Marketing Trends

ถอดโรดแมป ดึงทุกภาคส่วน สร้าง ‘เมืองอัจฉริยะ’ พัฒนาอนาคตยั่งยืน

ประเทศไทย 4.0 ที่กำลังขับเคลื่อนสู่ สมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการวางรากฐาน และหาความแตกต่างเพื่อเป็นจุดขาย อันจะนำไปสู่การพัฒนาเมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืน

คุณอัชชพลดุสิตนานนท์
อัชชพล ดุสิตนานนท์

นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า จุดมุ่งหมายของการสร้างเมืองอัจฉริยะ อยู่ที่การช่วยยกระดับคุณภาพของประชาชนได้อย่างตรงจุด มีการนำเทคโนโลยี เข้ามาปรับใช้ มีการออกแบบโครงสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัยให้เกิดประโยชน์การใช้สอยอย่างเต็มประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้

“แต่ละพื้นที่ จะมีอาชีพและวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ทำให้การพัฒนาเมือง ต้องมีความโดดเด่นเฉพาะตัว และสอดรับกับความต้องการของคนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากทำได้ เมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาค”นายอัชชพลกล่าว

ในส่วนของภาครัฐเองได้จัดการวางองค์ประกอบเมืองอัจฉริยะในภาพรวมไว้ 7 ด้าน ได้แก่ Smart Environment สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ 2. Smart Government การปกครองอัจฉริยะ 3. Smart Mobility การสัญจรอัจฉริยะ 4. Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ 5. Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ 6. Smart Living การใช้ชีวิตอัจฉริยะ และ 7. Smart People ประชาชนอัจฉริยะ

4PATT4492

เป้าหมายของประเทศไทยในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนั้น ในระยะแรกจะเริ่มจากพื้นที่อีอีซี, กรุงเทพ, เชียงใหม่, ขอนแก่น และภูเก็ต หลังจากนั้นจะขยายไปยัง 100 เมืองใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ภายในปี 2565

เริ่มจากต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเฟสแรก ในพื้นที่เขตอีอีซี ซึ่งกำหนดพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ตัวอย่างเช่นในจังหวัดชลบุรี พื้นที่ แหลมฉบัง วางแผนพัฒนาในด้าน สมาร์ท ลิฟวิ่ง การใช้ชีวิตอัจฉริยะในด้านความปลอดภัย ด้วยระบบวิเคราะห์ตรวจจับใบหน้าอัจฉริยะ คัดกรองอาชญากร ซึ่งเป็นการพัฒนาที่สอดสล้องกับการเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่มีความปลอดภัยน่าอยู่อาศัยน่าเที่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีความคึกคักเพิ่มขึ้น

ส่วนในพื้นที่เมืองบางแสน มีการพัฒนาในด้านของ สมาร์ท ลิฟวิ่ง ที่เน้นชีวิตอัจฉริยะที่รองรับผู้สูงอายุ เน้นเรื่องบริการสุขภาพ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวผู้สูงอายุและชาวต่างชาติมาพักผ่อนระยะยาวในประเทศไทย เทศบาลเมืองบางแสนจึงได้มีการพัฒนาวางระบบติดตามตัว เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้สูงอายุต่างชาติให้เข้ามาพำนักระยะยาวในไทย ถือเป็นโมเดลในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรมที่จะเป็นต้นแบบให้แก่เมืองอื่นๆ ในประเทศไทย

4PATT4738 1

“การออกแบบเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรม จะต้องสอดคล้องกับจุดเด่น และสามารถแก้ไขจุดด้อยในแต่ละพื้นที่ได้ โดยอาศัยทุกภาคส่วนในการร่วมหารือและร่วมมือพัฒนาเมืองไปในทิศทางเดียวกันเพื่อการพัฒนาเมืองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”นายอัชชพล กล่าว

นอกจากนี้ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ยังได้จัดงาน ASA Real Estate Forum 2019 (อาษา เรียลเอสเตท ฟอรัม 2019) ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Smart & Innovative Cities for all” ประสานทุกภาคส่วนร่วมถกปัญหาและสร้างแนวทางสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรม ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ผ่านงานสัมมนา พร้อมการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรม

Avatar photo