COLUMNISTS

‘ไทย-อาเซียน’ ต้องเข้มแข็งด้วยตัวเอง อย่าตกเป็นเครื่องมือ ‘มหาอำนาจ’

Avatar photo
831

จบไปแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ภาพสุดท้ายในความทรงจำที่ไม่รู้ลืมสำหรับสหรัฐอเมริกา คงหนีไม่พ้นกรณีที่ ผู้นำอาเซียนพร้อมใจกันเทสหรัฐ หลังส่ง นายโรเบิร์ต ซี.โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ มาเป็นผู้แทนพิเศษเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ โดยมีเพียงนายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะประธานอาเซียนคนปัจจุบัน นายเหวียน ซวน หุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนในอนาคต และ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีลาวในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-สหรัฐ เท่านั้นที่เข้าร่วม นอกนั้นอีก 7 ประเทศ ส่งเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนเท่านั้น

IMG 20191104223206000000 1

ถือเป็นการเอาคืนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ให้เกียรติอาเซียนก่อน เป็นมาตรการที่สะท้อนกลับไปให้ประเทศมหาอำนาจได้เห็นว่า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมด้วยกันทั้งสิ้น จะปฏิบัติต่อกันเหมือนเป็นไก่รองบ่อนไม่ได้

ในทางการทูต การกระทำเช่นนี้ถือว่าสหรัฐอเมริกาเสียมารยาท เพราะในขณะที่ประเทศอื่นๆ ต่างส่งผู้นำมาร่วมประชุม หรืออย่างน้อยที่สุดอาจเป็นระดับรองประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี แต่สหรัฐอเมริกากลับส่งเพียงที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง มาเทียบชั้นกับผู้นำอาเซียนทั้งหลาย แถมยังฝากจดหมายจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ เชิญให้ผู้นำอาเซียนไปประชุมที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า เหมือนจะประกาศนัยว่า อยากเจรจาก็มาหาฉันที่สหรัฐสิ แสดงถึงมุมมองของผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีต่ออาเซียนเหมือนเป็นลูกไก่ในกำมือ สั่งซ้ายหันขวาหันได้ตามใจชอบ

การเทสหรัฐในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ดังที่กล่าวในข้างต้น จึงถือเป็นการตอบโต้อย่างสมน้ำสมเนื้อของอาเซียนเช่นเดียวกัน เมื่อสหรัฐอเมริกาไม่ให้เกียรติมา ก็ไม่รับเกียรติกลับไป

สัญญาณแห่งความเอาแต่ใจของสหรัฐอเมริกา ยังเกิดขึ้นในอีกเวทีหนึ่งของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้คือ Indo-Pacific Business Forum ครั้งที่ 2 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำประเทศกับผู้นำธุรกิจ โดยสหรัฐอเมริกาส่ง นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาร่วมประชุม และสัญญากับไทยว่าจะทบทวนเรื่องการตัดสิทธิ GSP ทั้งที่กรณี GSP ไม่ได้ขึ้นตรงอยู่กับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา แต่ขึ้นตรงต่อผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (United States Trade Representative : USTR) ซึ่งสามารถรายงานตรงต่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

IMG 20191103181413000000

ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติอาเซียนที่ส่งบุคคลระดับนายกรัฐมนตรี มาเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้ ภาพที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลลบกับสหรัฐมากกว่า เพราะในขณะที่ยักท่าทำตัวใหญ่กดอาเซียนให้เล็กลง ในขณะที่จีนส่งสัญญาณเป็นมิตรให้เกียรติอาเซียนมากกว่า ย่อมกลายเป็นความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ที่จีนจะแทรกซึมขยายอิทธิพลในภูมิภาคอาเซียนได้มากกว่า

ดังจะเห็นได้จากสุนทรพจน์ของนายหลี่ เค่อเฉียง ที่ให้ยาหอมกับไทยว่า จีนกับไทยร่วมพายเรือลำเดียวกัน มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นต่อกัน โดยอาศัยหลักการที่มีความเสมอภาคต่อกัน ส่วนนายกไทย เปรียบเปรยว่า “มดน้อยบางครั้งก็สามารถช่วยพญาราชสีห์ และพญาคชสารได้”

ขณะที่ นายโรเบิร์ต ซี โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง สหรัฐอเมริกา กลับใช้เวทีอาเซียนโจมตีจีน โดยบอกกับประเทศอาเซียนว่า จีนใช้วิธีการข่มขู่รังแก ไม่ให้อาเซียนเข้าไปพัฒนาแหล่งแก๊สและน้ำมันซึ่งมีค่ามหาศาล และสหรัฐอเมริกาจะปกป้องอาเซียนเอง เหมือนพยายามตีกันจีนออกไปและยกตัวเองเข้ามาอยู่เหนืออาเซียน ทั้งที่เดินเกมแบบไม่ให้เกียรติอาเซียนเลย

เหตุผลสำคัญที่ทำให้สองประเทศมหาอำนาจจ้องหาผลประโยชน์จากอาเซียนกันตาเป็นมัน เพราะภาพรวมของอาเซียนมีทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งจีนและสหรัฐจึงพยายามช่วงชิงความเป็นหนึ่งในภูมิภาคนี้

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ไทยและอาเซียนได้ประโยชน์อะไรจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จำเป็นไหมที่เราต้องพึ่ง GSP จากสหรัฐอเมริกา และเราได้อะไรจากการทำการค้าเสรี (FTA) กับประเทศจีน แม้ 2 ประเทศเป็นมหาอำนาจ แต่ต่างก็รักษาผลประโยชน์ของประเทศของตัวเองทั้งสิ้น ดังนั้นเวทีเจรจาจึงต้องเท่าทันไม่ตกเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจฝ่ายใด เพราะไทยเองก็มีผลประโยชน์ประชาชนที่ต้องรักษาไว้เช่นเดียวกัน ข้อตกลงในลักษณะกลุ่มประเทศหลายครั้งอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีสำหรับประเทศใดประเทศหนึ่ง

ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัด จากกรณีประเทศอินเดีย ที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ยังไม่ตัดสินใจลงนามเป็นประเทศที่ 16 ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (The Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) โดยระบุว่า มีเหตุผลภายในต้องพิจารณาหลายอย่าง แม้จะเป็นการเปิดโอกาสทางการค้ามากขึ้น แต่ก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมกับผลประโยชน์ที่อินเดียจะได้รับด้วยในเรื่องของสินค้าจีนที่จะเข้ามาตีตลาดอินเดีย หรือการได้งานทำของชาวอินเดียในกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน

แม้ความร่วมมือระหว่างประเทศจะเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้ประเทศไทยและอาเซียนได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ได้รับการยอมรับจากสังคมโลก แต่ก็ไม่ควรผูกตัวเองไว้กับความร่วมมือระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียว เราควรมีมาตรการอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจากภายในอาเซียนด้วยกัน

IMG 20191102165943000000

อย่างกรณีนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี มาเลเซีย เพิ่งพูดไปไม่กี่วันนี้ว่า ถ้าสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปมาข่มเหงรังแกเรา เราจะต้องรวมพลังกัน 10 ประเทศอาเซียน จับมือกันให้เหนียวแน่น จะได้ต่อรองได้สำเร็จ หากเขาขู่ไม่ซื้อสินค้าเรา เราก็ต้องไม่ซื้อสินค้าเขาเช่นกัน ซึ่งถือเป็นผู้นำไม่กี่คนในชาติอาเซียน ที่แสดงท่าทีชัดเจนเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของอาเซียน

สำคัญที่สุดจึงอยู่ที่การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ค่อยๆลดการพึ่งพาจากภายนอก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยหยัดยืนได้อย่างแข็งแกร่งด้วยขาตัวเอง โดยต้องเริ่มจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศเสียก่อน