Sport

นักการเมืองกับเจ้าของทีมบอลไทย!

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสโมสรฟุตบอลกลายเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าและรายได้อย่างมหาศาล

1573210139035
ภาพจาก : @CRUTD

สโมสรฟุตบอลลีกชั้นนำของยุโรป จึงกลายเป็นธุรกิจที่น่าลงทุนอย่างมาก หากผลงานของทีมเป็นไปได้สวย และเจ้าของทีมรู้จักบริหารทีมแบบไม่ใช้เงินเกินตัวมากเกินไปก็จะสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างมากมาย

ลีกอาชีพต่างแดน เจ้าของทีมส่วนใหญ่จึงเป็น นักธุรกิจ มหาเศรษฐีที่ลงทุนแข่งกัน น้อยทีมนักที่มีเจ้าของทีมเป็น นักการเมือง ผิดกับเมืองไทยที่ส่วนมาก คนทำทีม คือ “นักการเมืองในพื้นที่” หรือเป็นคนในครอบครัวตระกูลการเมือง

ถามว่าทำไมนักการเมืองถึงสนใจการทำทีมฟุตบอล แล้วเหตุไฉนนักธุรกิจถึงไม่ค่อยสนใจเป็นเจ้าของสโมสรเมืองไทย

นักธุรกิจที่เข้ามาทำสโมสรฟุตบอลอาชีพจะมองเห็นโอกาสในการทำกำไร สร้างมูลค่าและรายได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อยอด เพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ธุรกิจที่เป็นของเจ้าของทีมฟุตบอลได้อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น ลิเวอร์พูล สโมสรดังของอังกฤษที่นับตั้งแต่จอห์น เฮนรีเข้ามาเทคโอเวอร์เมื่อปี 2010 ผลงานของทีมดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมูลค่าทีมสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีรายงานว่าหากเขาขายทีมหงส์แดงจะสามารถขายได้ในราคา 1,500 ล้านปอนด์ จากที่ซื้อสโมสรมาในราคาเพียง 300 ล้านปอนด์ หรือเท่ากับได้กำไรมากถึง 4 เท่าตัว

1573210128538
ภาพจาก : @CRUTD

หรือจะเป็น เร้ด บูล (Red Bull) บริษัทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดังที่เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลหลายประเทศ ทั้ง เร้ดบูล ซัลซ์บวร์ก ในลีกออสเตรีย, นิว ยอร์ค เร้ดบูล ของเมเจอร์ลีก สหรัฐ หรือ แอร์แบ ไลป์ซิก ทีมดังในบุนเดสลีกา เยอรมัน ที่เข้าบริหารทีมเพื่อโปรโมตธุรกิจหลักของบริษัท โดยทุกสโมสรจะถูกเปลี่ยนชื่อสโมสรให้สื่อถึงบริษัท และมีโลโก้สโมสรในรูปแบบเดียวกัน คือกระทิงแดงสองตัวขวิดเข้าหากัน และมีสปอนเซอร์คาดหน้าอกเป็นเครื่องดื่มเร้ดบูล

เช่นเดียวกับ ชีค มันซูร์ บิน ซาเย็ด อัล นาห์ยาน ที่นอกจากฮุบกิจการแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมดังในพรีเมียร์ลีกแล้ว ยังซื้อทีมเมลเบิร์น ซิตี้ สโมสรประเทศออสเตรเลีย และ นิว ยอร์ค ซิตี้ ของเมเจอร์ลีก สหรัฐ เพื่อช่วยโปรโมต และเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ เอติฮัต แอร์เวย์ สายการบินของอาบูดาบี

หากเป็นในเมืองไทยแล้วไทยลีก ยุคดั้งเดิมล้วนเป็นทีมองค์กร หรือ รัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่ทีมจังหวัด เช่น ม.กรุงเทพ, การไฟฟ้า, โอสถสภา, บีอีซีเทโรศาสน ฯลฯ นักธุรกิจในประเทศที่หันมาเป็นเจ้าของฟุตบอล ยุคนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องการสร้างผลประโยชน์ ให้กับบริษัทแม่

ขณะที่ปัจจุบันแม้ลีกไทยจะบูมขึ้นมามากจนเป็นได้รับการยอมรับเป็นเบอร์ 1 อาเซียน และเป็นเบอร์ต้นๆของเอเชีย แต่นักธุรกิจยังมองว่าสโมสรยังไม่เป็นมืออาชีพแบบเต็มตัวทำให้หากจะมาลงทุนมันมีความเสี่ยงที่ขาดทุนสูง และได้ผลกำไรกลับมายากมาก เช่นต้องทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเพื่อสร้างทีมให้แข็งแกร่ง จ่ายค่าเหนื่อยที่สูงกับการจ้างนักเตะต่างชาติมาร่วมทีม หรือสร้างสนาม ปรับปรุงสนามที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก

นักลงทุนจึงมองว่าธุรกิจฟุตบอลสามารถสร้างผลประโยชน์ที่หลากหลาย เช่น ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตแบรนด์ ผ่านการเป็นสปอนเซอร์คาดหน้าอก หรือชื่อผู้สนับสนุนสนาม โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทีม

1573210141774
ภาพจาก : @truebangkokunited

อีกทั้งการเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนทีมฟุตบอลในเมืองไทยนั้นเปิดกว้างกว่าวงการฟุตบอลต่างประเทศ เนื่องจากสามารถโปรโมตแบรนด์ได้ผ่านทั้ง ชื่อสโมสร ชื่อสนาม และบนเสื้อแข่ง ที่สามารถแปะสัญลักษณ์ของสปอนเซอร์ได้อย่างเต็มที่ต่างจากต่างประเทศที่มีกฎข้อบังคับชัดเจนว่าสปอนเซอร์บนตัวเสื้อจะอยู่ตรงจุดใดได้บ้าง

เมื่อมีทางเลือกที่ประหยัดต้นทุนกว่า และได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า นักธุรกิจไทยจึงไม่มีความจำเป็นลงทุนทำสโมสรฟุตบอลด้วยตัวเอง เช่น เอสซีจี ที่เลือกเป็นสปอนเซอร์สนับสนุน เมืองทอง ยูไนเต็ด และได้ใช้ชื่อสโมสรว่า เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด หรือ สิงห์ ที่เข้าเป็นผู้สนับสนุนหลัก เชียงราย ยูไนเต็ด และใช้ชื่อ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด หรือ ช้าง สนับสนุนบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดในเรื่องสนามแข่งขันจนได้ใช้ชื่อเป็น ช้างอารีน่า เป็นต้น

แต่ก็ยังมีองค์กรลงมือทำทีมเองเช่น ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่บริหารงานโดย กลุ่มทรู คอร์เปเรชั่น หรือ พีทีที ระยอง ที่เพิ่งประกาศพักทีมเจ้าของทีมคือ ปตท. เป็นต้น

ดังนั้นปัจจุบันผู้บริหารทีมฟุตบอลในเมือไทยส่วนใหญ่เป็น นักการเมือง หรือคนในตระกูลการเมือง มากกว่าที่จะเป็นนักธุรกิจ

ถามว่าทำไมนักการเมืองจึงหันมาทำทีมฟุตบอล

1573210122469
ภาพจาก : @BuriramUnitedFC

นักการเมืองที่กระโดดมาบริหารสโมสรฟุตบอลส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองในพื้นที่ ซึ่งเป็นคนที่มีสายป่าน เป็นที่รู้จัก หรือมีบารมีมากพอเจรจากับบริษัทเอกชน ให้เข้ามาจ่ายเงินสนับสนุนสโมสร โดยพวกเขาได้รับผลประโยชน์ทางตรงจากเม็ดเงินของบริษัทเอกชนช่วยลดค่าใช้จ่ายจากกระเป๋าเงินตัวเอง

ที่ผ่านมาเคยมีการสำรวจว่าสโมสรฟุตบอลเป็นเครื่องมือเรียกความนิยม ไม่ให้ชื่อนักการเมืองหายไปจากการรับรู้ของสาธารณะ บวกกับสภาพการเมืองยุคปัจจุบันถูกปิดกั้นโอกาสในการสร้างฐานคะแนนเสียง นักการเมืองหลายคนจึงมองเห็นว่า การทำสโมสรฟุตบอลสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความนิยมได้

ช่วงพ.ศ. 2549-2551 ที่มีนักการเมืองหลายคนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และผันตัวมาทำทีมฟุตบอลหลายคน ส่วนหนึ่งมาจากใจรักฟุตบอลบอลจริง แต่อีกปัจจัยที่ต้องยอมรับคือมีผลประโยชน์ทางอ้อม

สโมสรฟุตบอลสามารถสร้างความนิยมให้กับเหล่านักการเมืองได้ ชื่อของพวกเขาจะยังอยู่ในสาธารณะไม่เงียบหายไป หากทีมมีความสำเร็จ ทำผลงานดีจับต้องได้มันก็จะเป็นภาพบวกในมุมกองเชียร์ คนในพื้นที่มากกว่านักการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ได้ทำทีมฟุตบอล

ฤดูกาลที่ผ่านมาหากนับเฉพาะทีมในไทยลีกมีหลายสโมสรที่ถูกบริหารงานโดยนักการเมือง ไม่รวมเนวิน ชิดชอบ ที่รายนั้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำทีมฟุตบอลด้วยใจรัก อีกทั้งยังต่อยอดวงการกีฬาให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากการสร้างสนามแข่งรถช้าง อินเตอร์ เนชั่นแนล เซอร์กิต ซึ่งนอกจากแข่งรถระดับเอเชียแล้วยังได้จัดรายการระดับโลกอย่าง โมโต จีพี มาแล้วสองปีซ้อน

1573210131516
ภาพจาก : สุโขทัย เอฟซี

ศึกไทยลีกฤดูกาล 2019 ที่ผ่านมานอกจากบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดของเนวิน ชิดชอบ สโมสรฟุตบอลที่มีนักการเมืองบริหารทีมต่างเปลี่ยนตัวประธานสโมสรกันจ้าละหวั่นหลังการเมืองไทยกลับมาจัดเลือกตั้งอีกครั้ง

สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด เปลี่ยนตัวประธานสโมสรเป็น ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช น้องสาวของ “ฮั่น” มิตติ ติยะไพรัช ที่ไปเล่นการเมืองเต็มตัวกับบทบาทเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ ก่อนที่พรรรคจะถูกยุบจึงหันกลับมาบริหารทีมในตำแหน่งที่ปรึกษาสโมสร รวมทั้งตั้ง “ยิ้ม” วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ เป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ โดย “ยิ้ม วิสาระดี” ได้รับไฟเขียวให้ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกอบจ. เชียงราย

ซึ่งผลงานพาทีมสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้เป็นครั้งแรกเชื่อว่าทำให้ตระกูลติยะไพรัช รวมทั้ง “ยิ้ม วิสาระดี” ได้ใจจากคนเชียงรายไปไม่น้อย

สุโขทัย เอฟซี ที่เปลี่ยนประธานสโมสรจาก สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่กลับไปเล่นการเมืองอีกครั้งในฐานะแม่ทัพหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ เป็น “มาดามเป้า” อนงค์วรรณ เทพสุทิน

ชัยนาท ฮอร์นบิล คืออีกทีมที่เปลี่ยนประธานเมื่อ “เสี่ยแฮงก์” อนุชา นาคาศัย ไปลงสมัครส.ส.เขต 1 ชัยนาท และเป็นประธานยุทธศาสตร์ภาคกลางของพรรคพลังประชารัฐ มาเป็น “เสี่ยรุท” อนุรุทธิ์ นาคาศัย ที่รับบทควบประธานฝ่ายบริหารและผู้จัดการทีม

1573210136167
ภาพจาก : @RBMFCOFFICIAL

ราชบุรี มิตรผล เอฟซี เปลี่ยนประธานสโมสรเป็น “กำนันตุ้ย” วิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีตส.ส.ราชบุรี กลับมาเป็นประธานสโมสรอีกครั้งหลัง บุญยิ่ง นิติกาญจนา ผู้เป็นภรรยาไปลงสนามเลือกตั้งราชบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งปีนี้ผลงานเยี่ยมคว้ารองแชมป์เอฟเอ คัพ

สุพรรณบุรี เอฟซี ประธานสโมสรยังเป็นคนเดิม วราวุธ ศิลปอาชา แม้จะมีตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนาแต่ก็มีเวลามาดูแลทีมเนื่องจาก มีพี่สาว กัญจนา ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค

นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี ไม่มีประธานสโมสรเมื่อ เทวัญ ลิปตพัลลภ ขอยุติบทบาทไปรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา โดยมี สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นประธานกิตติมศักดิ์

ไม่นับรวม ชลบุรีเอฟซี ที่มีอรรณพ สิงโตทอง นั่งแท่นผู้บริหารแต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่ามีตระกูล “คุณปลื้ม” หนุนหลังมาตั้งแต่เริ่มอยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองท้องถิ่นอย่าง ตราด เอฟซี ที่มี วิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราดเป็นที่ปรึกษาของสโมสร

1573210119078
ภาพจาก : @PrachuapFc2011

พีที ประจวบ มี “นายกเกียร์” ทรงเกียรติ ลิ้มอรุณรักษ์ นายกอบจ.ประจวบฯ นั่งแท่นประธานสโมสรและพาทีมคว้าแชมป์แรกในประวัติศาสตร์สโมสรกับถ้วยลีก คัพ ด้วยการเอาชนะจุดโทษบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

หรือจะเป็นสมุทรปราการซิตี้ ที่ย้ายฐานทัพมาเล่นสมุทรปราการพร้อมตั้ง ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นักการเมืองท้องถิ่นชื่อดังเป็นประธานสโมสร

สังเกตได้ว่าลีกสุงสุดเมืองไทยมีเจ้าของทีมเป็นนักการเมืองแทบทั้งนั้นเนื่องจากพวกเขามองว่าสโมสรฟุตบอลสามารถสร้างฐานเสียงได้ระดับหนึ่ง ซึ่งต่อยอดไปสู่โอกาสในการได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.ได้ในบั้นปลาย

ยิ่งทุกวันนี้บอลไทยบูมขึ้นมาก หากนักการเมืองที่เป็นเจ้าของทีมไม่สร้างทีมอย่างต่อเนื่อง ทำทีมแบบทิ้งๆขว้างๆ เหมือนเป็นของเล่นช่วงว่างจากงานการเมือง เชื่อว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากคนในพื้นที่

เพราะแค่สโมสรฟุตบอลยังไม่จริงใจจะดูแล แล้วเรื่องที่ใหญ่กว่าจะมาเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนอย่างพวกเขาได้อย่างไร?

Avatar photo