Economics

‘GC’ ได้เวลาผงาดตลาดโลก ปรับพอร์ตรายได้ต่างประเทศ 30% ใน 10 ปี

“GC” ได้เวลาผงาดตลาดโลก ปรับพอร์ตรายได้ต่างประเทศ 30% ภายใน 10 ปี พร้อมเพิ่มงบลงทุนเกินครึ่งทุ่มต่างประเทศ เล็งหาข้อสรุปซื้อกิจการในสหรัฐ-ยุโรปเร็วๆนี้ ปักหลักสหรัฐเป็นบ้านหลังที่สอง 

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ถือเป็น “เรือธงในธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemical Flagship)” ของกลุ่มปตท. ที่ผ่านวงจรทั้งขาขึ้น และขาลงของราคาปิโตรเคมีมายาวนาน จนแกะเทรนด์ออก และปรับธุรกิจมาตามลำดับ มีการผลิตเม็ดพลาสติกป้อนเกือบทุกอุตสาหกรรม เพื่อกระจายความเสี่ยง และเติบโตต่อเนื่อง เป้าหมายที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คนก่อนเคยลั่นวาจาไว้ จะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ภายใน 3-5 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท

IMG 20191104 165503 ปรับแสง 1

เป้าหมายนี้ไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC คนใหม่ถอดด้าม ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่เป็นคนเก่าที่อยู่ตั่งแต่บุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศ และปตท. ที่จะมองทิศทางธุรกิจขาด และทำให้ GC เติบโตต่อเนื่องในระดับโลกสมชื่อ

เขาเล่าว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา GC ลงทุนต่างประเทศไปแล้ว 1,000 ล้านดอลลาร์ และได้วางเป้าหมายไว้ภายใน 10 ปี หรือในปี 2573 GC จะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ 30% ของพอร์ต จากปัจจุบันไม่ถึง 10 % และรายจ่ายการลงทุน (CAPEX) มากกว่า 50% เป็นการลงทุนในต่างประเทศ

ส่วนการลงทุนในประเทศ ซีอีโอ คนนี้มองว่า เรามีการลงทุนไปพอสมควรแล้วในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ประมาณแสนล้านบาท ถือเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในอีอีซี และจะลงทุนเพิ่มอีก 50,000-60,000 ล้านบาท  3 โครงการหลักที่ลงทุนในพื้นที่นี้ ได้แก่ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration, โครงการโพรพิลีนออกไซด์ และโครงการโพลีออลส์

“ที่ผ่านมาเราดึงนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาในอีอีซีนับสิบราย ได้ทั้งเงินลงทุน และเทคโนโลยี เน้นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) รวมถึงทำสินค้าปลายน้ำ เช่น สีเคลือบรถยนต์ เบาะ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น”

นอกจากนี้ GC ยังจะปรับผลิตภัณฑ์ของเราให้เป็นเคมีภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง ( Performance Chemicals) และ ผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Products) สัดส่วน 30% เพื่อเพิ่มมูลค่า ทั้งหมดเพื่อทำให้ GC เป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อถึงวงจรขาลงของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งรอบปกติจะเกิดขึ้นทุกๆ 4 ปี

PTTGC Site 3

เขากลับมาขยายความต่อว่า การออกไปลงทุนต่างประเทศจะทำด้วยวิธีการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) เพราะถือว่า GC มีความพร้อมจากความแข็งแกร่งด้านการเงิน มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio : D/E ) 0.3 เท่านั้น และจะใช้วิกฤติเป็นโอกาสในช่วงปิโตรเคมีขาลง เข้าซื้อกิจการที่มีศักยภาพในต่างประเทศ เพราะค่าลงทุนถูก ดอกเบี้ยถูก และค่าก่อสร้างก็ถูกด้วย

“เราจีบอยู่ เป็นบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ซึ่งพัฒนานำหน้าเรามานานเป็นสิบปี หากเราเจรจาตกลงกันได้ สามารถต่อยอดจากเขาได้เลย เพราะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้วย นอกจากนี้เราก็มองอีกหลายๆบริษัททั้งในสหรัฐ และยุโรป ”

ดร.คงกระพัน ระบุว่า เวลานี้ หากเรา M&A  จะไม่รอให้มีสถาบันการเงิน หรือที่ปรึกษา มาบอกว่าซื้อกิจการใดดี และมาเลือกกัน แต่จะใช้วิธีเห็นบริษัทไหนมีศักยภาพ จะเข้าไปทำความรู้จักไว้ก่อนเลย ส่วนบริษัทนั้นจะขายหรือไม่ ไม่เป็นไร ตอนนี้เฉพาะที่สหรัฐ เรามีทีมงานกว่า 20 คนคอยมองหาโอกาสดีๆ

“และไม่นานเราจะไปปักหลักที่สหรัฐ ให้ที่นั่นเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเรา” ทำไม GC สนใจสหรัฐ ก็เพราะเป็นประเทศที่มีการลงทุนเชลแก๊สจำนวนมหาศาล ทำให้ต้นทุนต่ำมาก นักลงทุนก็ต้องการให้ GC เข้าไปด้วย เพราะถือว่าเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่แข็งแกร่งในภูมิภาค หากผลิตแล้ว ก็ทำตลาดที่นั้นเลย ซึ่งหลังจากที่ตนเองประจำในต่างประเทศมากว่า 5 ปี มองเห็นจังหวะการลงทุนที่ดีหลายเรื่อง

ดร.คงกระพัน ประเมินวงจรของปิโตรเคมีว่า วงจรของอุตสาหกรรมนี้จะตกต่ำลงทุกๆ 4 ปี แต่ปีนี้ตกต่ำหนักที่สุด เพราะมีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมาซ้ำเติม ทำให้ความต้องการลดไปมากในทุกอุตสาหกรรม แต่ปีหน้าคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยที่ผ่านมาแม้เราจะได้รับผลกระทบ แต่ไม่หนักหนา ยังมีกำไร ในไตรมาส 3 ของปีนี้ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,663.33 ล้านบาท

S 31580348

เพราะเราได้เตรียมพร้อมกับทุกสถานการณ์ไว้แล้ว โดยผลิตผลิตภัณฑ์ป้อนทุกๆอุตสาหกรรม เพื่อกระจายความเสี่ยง จนเรียกได้ว่า จีซีเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีที่หลากหลายผลิตภัณฑ์ที่สุดในโลกก็ว่าได้ และเราใช้โอกาสสงครามการค้า ขายผลิตภัณฑ์ไปทุกๆตลาดที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะจีน

“GC ต่างจากในอดีตมาก กระจายความเสี่ยง เราผลิตทั้งเชิงลึก และกว้าง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำสินค้า Commodities ใกล้ลูกค้ามากขึ้น ฐานะการเงินแข็งแกร่ง หากเราไม่ได้พัฒนาองค์กรมาถึงขนาดนี้ เจอวิกฤติขนาดนี้คงขาดทุนหนัก”

IMG 20191011 084058

อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะลงทุนโครงการไหน ดร.คงกระพัน ย้ำว่า เราจะมองเรื่องความยั่งยืนเสมอ จึงหันมาปักธงที่จะทำไบโอพลาสติก ที่ย่อยสลายได้ในสัดส่วนที่มากขึ้นตามลำดับ และแน่นอนเราจะให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศไทย

รวมไปถึงการทำโครงการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย โดยในปีหน้าจะทำหลากหลายโครงการร่วมกับพันธมิตรต่างๆ โดยเราจะไม่ไปบอกว่า GC เป็นผู้นำในเรื่องการจัดการขยะพลาสติกครบวงจร แต่อยากให้ทุกคนมีแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เราทำ โดยเฉพาะการนำขยะพลาสติก มาทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ (Upcycling) เพื่อช่วยกันลดปริมาณขยะที่เกิดจากทุกคน

IMG 20191011 090419

เขายกตัวอย่างที่ทำร่วมกันกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ และประสบผลสำเร็จ เช่น ทำงานร่วมกับวัดจากแดง บางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ ในการจัดการขยะอย่างครบวงจร นำขยะพลาสติกมาผลิตเป็นจีวร ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะของชุมชน และจีวร ก็ได้รับการตอบรับอย่างสูง ผลิตไม่พอขาย นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับกลุ่มปตท.ผลิตไบโอพลาสติกเป็นภาชนะที่ใช้ในร้านกาแฟ คาเฟ่อเมซอนด้วย

IMG 20191104 141504 1

IMG 20191104 140312

และสิ่งที่เราทำเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ในการนำขยะพลาสติกมาสร้างมูลค่า เป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิดสวยงาม มีมูลค่าสูง อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า รวมถึงจีวร ทำให้หลายๆองค์กร ชวน GC ไปทำงานด้วยกัน ล่าสุดกำลังทำงานร่วมกับอุทยานแห่งชาติ เริ่มนำร่อง 10 แห่ง ให้อุทยานฯเป็น Zero Waste ภายในใช้แต่ไบโอพลาสติกทั้งหมด และไม่ให้นักท่องเที่ยวนำถุงพลาสติกเข้าไป หากใครจะนำเข้าไป ต้องมีการมัดจำ เพื่อให้นำออกมาด้วยเมื่อเดินทางกลับ เป็นต้น รวมถึงดูแลเข้มงวดการทิ้งขยะอื่นๆภายในพื้นที่ด้วย

“ปีหน้าเรามีโครงการจะทำอีกมาก ขยายผลกับพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำ อาทิ โรงเรียน และทำกับอีกหลายองค์กร เช่น เวิร์คพอยท์ นอกจากนี้เราจะไปทำในต่างประเทศด้วย ในปีหน้าจะได้เห็นการร้อยเรียงให้ทุกอย่างเข้ามาเป็นเรื่องเดียวกัน และเชื่อมโยงการทำธุรกิจของจีซี รวมถึงเชื่อมมาที่การวัดผลการทำงาน (KPI)ด้วย ”

IMG 20191011 093411

ดร.คงกระพัน ย้ำในตอนท้ายว่า การแบนพลาสติกไม่ใช่วิธีการแรกที่ควรจะทำ เราต้องมีทางเลือกให้ทุกคน เพราะคนจำนวนมากยังต้องใช้พลาสติกอยู่ สิ่งที่จะต้องช่วยกันทำ คือการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อให้ขยะเหล่านั้นถูกนำไปรีไซเคิล และสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อให้เรานำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ

ขอบคุณภาพโรงงาน และผลิตภัณฑ์ จาก https://www.pttgcgroup.com

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight