Branding

‘นิวรีเทล’ยุคหน้า ‘ปลาใหญ่แต่เร็ว’ กินเรียบ แนะสู้ด้วย ‘แอคทิวิตี้-บริการ’

“เอสเอ็มอีมีข้อได้เปรียบบริษัทใหญ่ คือ ความเร็ว ที่เค้าบอก ปลาเร็วกินปลาช้า จีนทำสำเร็จคือ ทำให้เอสเอ็มอีเป็นปลาเร็ว แล้วทำธุรกิจแข่งกับบริษัทใหญ่ได้ นี่เป็นความหวังใหม่ของเอสเอ็มอี” วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวในงาน ไลน์ รีเทล เทค 2019 จัดโดยไลน์ ประเทศไทย ถึงการเข้ามาของนิวรีเทล หรือค้าปลีกยุคใหม่ และการปรับตัวของเอสเอ็มอีเพื่อให้แข่งขันได้ในธุรกิจค้าปลีก

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ Retail Now and Next 1 1

วรวุฒิกล่าวว่า ประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นได้ชัดว่า เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกรายย่อย สามารถแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ได้ เพราะเทคโนโลยีจะทำให้ปลาเล็กกลายเป็นปลาเร็ว เอาชนะปลาใหญ่แต่ช้าได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การที่ผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย สามารถมีระบบเดลิเวอรี่ที่แข่งกับเคเอฟซี พิซซ่า แมคโดนัลด์ได้แข่ง ด้วยการร่วมมือกับแอปพลิเคชั่นจัดส่งอาหาร จนยอดขายเติบโตได้ถึง 600-700% เมื่อเทียบกับปกติ

อย่างไรก็ตาม ในยุคต่อไป วรวุฒิมองว่า วันนี้ปลาเร็วไม่ใช่แค่ปลาเล็กเท่านั้น แต่เป็นปลาใหญ่ที่ปรับตัวให้เร็วด้วย หากบริษัทยักษ์ใหญ่แล้วเคลื่อนเร็ว ตัวอย่างเช่น อาลีบาบา ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อันดับโลก และเร็วที่สุดในโลกด้วย จะทำให้กลายเป็นคนที่เข้ามากินเรียบในตลาด แล้วเมื่อนั้นเอสเอ็มอีจะอยู่อย่างไร

วรวุฒิ ฉายภาพรวมธุรกิจค้าปลีกไทยว่า ปัจจุบัน แม้จีดีพีไทย จะปรับลดลงมาแล้วเหลือ 2.8% แต่ภาพรวมค้าปลีกไทยในช่วง 3-4ปี ที่ผ่านมา กลับเติบโตต่ำกว่าจีดีพีมาตลอด ซึ่งเป็นสัญญานที่ค่อนข้างผิดปกติ เพราะโดยปกติแล้ว ค้าปลีกจะโตกว่า จีดีพี ประมาณ 1-2% ซึ่งสะท้อนว่ากำลังซื้อในประเทศไทยยังมีปัญหา โดยคาดว่าภาพรวมค้าปลีกไทยในปี 2562 นี้จะเติบโตเพียง 2.6%

ช้อปปิ้ง

“แม้จะกระตุ้นด้วยชิม ช้อป ใช้, ทัวร์เที่ยวไทย แต่เป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ไม่ได้เพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจมากพอ จึงหวังว่ารัฐบาลจะออกมาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งที่รีเทลโตต่ำกว่าปกติ มาจากโครงสร้างภาษีเป็นสำคัญ จากสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์โปรดักส์ หรือลักซ์ชัวรี่โปรดักส์ ซึ่งประเทศไทยเสียภาษีนำเข้าสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย หรือประมาณ 20-40 % ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเก็บ 5-10% เท่านั้น ทำให้คนไทยไปช้อปปิ้งต่างประเทศหรือซื้อดิวตี้ฟรี”

นอกจากนี้ ไทยยังเสียโอกาสจากการช้อปปิ้ง เพราะแม้จะมีนักท่องเที่ยวถึงปีละ 40 ล้านคน แต่นักท่องเที่ยวกลับไม่ซื้อสินค้าในประเทศไทย เนื่องจากราคาสูงกว่าต่างประเทศ ทำให้ไปซื้อที่สิงคโปร์ ฮ่องกงแทน ทั้งที่นักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน เป็นขุมทรัพย์ที่ประเทศอื่นๆ ในโลกอิจฉา จากรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยเป็นอันดับ 4 ของโลก จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นอันดับ 9 ของโลก แต่กลับเสียโอกาสจากกำลังซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวที่หายไป

92095

เมื่อเอ่ยถึงธุรกิจนิวรีเทล หรือค้าปลีกยุคใหม่ ถือเป็นแนวคิดใหม่ที่เกิดจากคนทำธุรกิจออนไลน์ โดยคนบัญญัติศัพท์ นิวรีเทล คือ อาลี บาบา ซึ่งธุรกิจของอาลีบาบา เริ่มจากออนไลน์ ซึ่งคนทำออนไลน์จะมาทำรีเทล จะทำได้ง่ายเพราะมีขุมทรัพย์ คือ ดาต้าเบส อยู่ในมือ ยิ่งทำนิวรีเทล ที่เชื่อมช่องทางระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ คนทำออนไลน์ดูทรานเซ็กชั่นได้ตลอดเวลาแบบเรียลไทม์เวลาทำโปรโมชั่น แต่คนทำรีเทลชินกับการหาโลเคชั่นดีดี จัดดิสเพลย์ สวยๆ เอาราคามาแข่งลูกค้าจะซื้อ

ยกตัวอย่าง เหอหม่าของอาลีบาบา อาลีบาบาสร้างอีโคซิสเต็มทางธุรกิจขึ้นมา ทั้งออมนิชาแนล ไฟแนนซ์ การปล่อยสินเชื่อ การให้อีมันนี่ ใช้โรบอท ระบบโลจิสติกส์ทันสมัย ใช้โดรนส่ง  มีนิวแมนูแฟคตอริ่งที่รองรับการสั่งแบบออนดีมานด์ คืออย่างสั่งอะไรเป็นพิเศษ สั่งได้ผ่านเว็บ ไม่ต้องสต็อก ใช้พลังงานใหม่ๆ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างอีโคซิสเต็มของระบบธุรกิจขึ้นมา

ดังนั้น การปรับตัวเข้าสู่นิวรีเทลของผู้ประกอบการค้าปลีกไทย จึงควรนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายสินค้าดิจิทัล ที่สามารถปรับราคาสินค้าได้เรียลไทม์, การชำระเงินแบบจดจำใบหน้า ไปจนถึงการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้บริการเป็นต้น

92089

“ผมเป็นคอกาแฟไปลองดื่มกาแฟหลายร้านที่จีน อร่อยสุดคือกาแฟของอาลีบาบา ที่ชงโดยหุ่นยนต์ ที่ทำหน้าที่บาริสต้าตั้งแต่ หกโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ชงกาแฟ พอหลังหกโมงเย็นเปลี่ยนเป็นขายเหล้า และยังเลือกแบบคัสโตไมซ์ได้ตามที่ต้องการด้วยการป้อนโปรแกรม”

ดังนั้น หากอาลีบาบา เข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งเริ่มเกิดแล้วจากการเข้ามาตั้งศูนย์กระจายสินค้าในอีอีซี ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการจัดส่งสินค้าถูกลง และรวดเร็วขึ้น หากค้าปลีกเมืองไทยยังไม่ปรับตัว จะอยู่รอดได้ยากแน่นอน

สำหรับทางรอดของผู้ประกอบการค้าปลีกไทยคือ ต้องมีแอคทิวิตี้ และการบริการ ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ออนไลน์ยังแข่งไม่ได้ และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า โดยต้องเลือกการเพิ่มมูลค่าที่ลูกค้าชอบและออนไลน์ทำไม่ได้ เช่น เพาเวอร์บาย เพิ่มมูลค่าให้ลูกค้าด้วยบริการหลังการขาย เป็นต้น

ภาพไลฟ์สไตล์ลืกซื้อสินค้า

ในด้านปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ค้าปลีกต้องเผชิญ คือ การแข่งขันจากธุรกิจค้าปลีกประเภทเดียวกันและธุรกิจค้าปลีกข้ามประเภท, ผู้ประกอบการกบลุ่มโมเดิร์นเทรด ที่หันมารุกทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ต้องเผชิญการแข่งขันกับกลุ่มค้าปลีกออนไลน์รายย่อยหรือเอสเอ็มอี และ ต้องเผชิญการแข่งขันจากผู้ประกอบการต่างชาติ เช่นจีนจะเข้ามาแข่งมากขึ้น

“ในเอเชีย ค้าปลีกไทยเป็นอันดับ 10 แพ้เค้าหมด ถ้าไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่พัฒนาตัวเองอย่างเร่งด่วน คงไม่สามารถแข่งกับใครได้ ดังนั้นอย่างแรกต้องเร่งแข่งกับตัวเอง นำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ” วรวุฒิกล่าวปิดท้าย

 

 

 

 

 

Avatar photo