Business

‘กระทรวงคลัง’ คอนเฟิร์ม! เปิดประมูล ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ 1 สัญญาเหมาะสมแล้ว

เลิกหั่นสัญญา! “กระทรวงการคลัง” คอนเฟิร์ม รวบประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1 สัญญาเหมาะสมแล้ว เดินหน้าเสนอโครงการให้ ครม. อนุมัติไม่เกินสิ้นปีนี้

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.22 แสนล้านบาทว่า ล่าสุดหน่วยงานต่างๆ มีข้อสรุปแล้วว่า การลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ควรใช้รูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) จำนวน 1 สัญญาเช่นเดิม ไม่ต้องแบ่งงานโยธาและงานบริหารการเดินรถเป็นหลายสัญญา

เนื่องจากกระทรวงการคลังได้จัดทำคำชี้แจงเพิ่มเติมไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วว่า แม้การกู้เงินมาลงทุนงานโยธาของเอกชน จะมีดอกเบี้ยสูงกว่าภาครัฐ แต่ก็ควรเปิดให้เอกชนร่วมทุนงานโยธาเช่นเดิม เพราะภาครัฐจำเป็นต้องนำเงินไปพัฒนาภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคเกษตร ภาคการศึกษา ที่เอกชนไม่สนใจร่วมลงทุนด้วย ดังนั้นการเปิด PPP รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) โดยรวมงานโยธาและงานบริหารการเดินรถเป็น 1 สัญญา จึงเหมาะสมแล้ว

แนวคิดดังกล่าวได้คำนึงถึงการเงินการคลังของประเทศเป็นหลัก เพราะนโยบายการลงทุนแบบ PPP เป็นการแบ่งเบาภาระการลงทุนของภาครัฐ เนื่องจากรัฐบาลต้องนำเงินไปลงทุนในอีกหลายภาคส่วน ขณะเดียวกันถ้าภาครัฐต้องกู้เงินมาลงทุน ก็จะทำให้เพดานหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ถึง รฟม. จะเป็นผู้กู้เงินมาลงทุนงานโยธาเอง ภาครัฐก็ต้องกู้เงินทุนระยะยาวมาชำระหนี้ให้ รฟม. อีก 1 ต่อ ไม่แตกต่างจากกรณีที่ให้เอกชนเป็นผู้รับสัมปทานและกู้เงิน ภาครัฐก็ต้องกู้เงินมาชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับเอกชนอยู่ดี

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ2

“ตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า กระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นหน่วยบริหารจัดการการเงินการคลังของประเทศยืนยันว่า รูปแบบที่เสนอไว้เดิม ที่ผ่านคณะกรรมการนโยบาย PPP นั้นเป็นรูปแบบที่เหมาะสม” นายภคพงศ์กล่าว

หลังจากนี้ก็คาดว่า กระทรวงการคลังจะเสนอข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับโครงการทั้งหมดกลับไปให้ ครม. พิจารณาได้ภายในเดือนนี้หรือก่อนสิ้นปี 2562 อย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) จะใช้รูปแบบ PPP Net Cost จำนวน 1 สัญญา คือภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนงานกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนตะวันตก ด้านเอกชนผู้รับสัมปทานจำนวน 1 รายจะเป็นลงทุนงานโยธามูลค่า 9.6 หมื่นล้านบาท, ค่างานระบบไฟฟ้า, ขบวนรถไฟฟ้า, บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง ซึ่งเอกชนจะออกเงินลงทุนงานโยธาจำนวน 9.6 หมื่นล้านบาทก่อน จากนั้นรัฐจะทยอยผ่อนชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หลังจากเปิดเดินรถแล้วเป็นเวลา 10 ปี

Avatar photo