Properties

เร่งคลอดมาตรฐาน ‘BIM’ หนุนอุตฯก่อสร้าง 1.2 ล้านล้าน สู้ ‘เทรดวอร์-ดิสรัปชั่น’

วสท. สภาวิศวกรและสถาปนิก ชู ก่อสร้างยุคดิจิทัล ผนึกกำลังปักธงมาตรฐาน BIM ครั้งแรกในประเทศไทย หนุนอุตสาหกรรมก่อสร้าง 1.2 ล้านล้านบาท สู้ศึกสงครามการค้า และดิสรัปชั่น ชง 5 ข้อเสนอรัฐบาลให้บรรจุการพัฒนา BIM ในแผนดิจิทัลแห่งชาติ และ ไทยแลนด์ 4.0

ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม
ทศพร ศรีเอี่ยม

ดร.ทศพร ศรีเอี่ยม กรรมการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และประธานจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมออกแบบและก่อสร้าง มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเมืองและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศปีละกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ผู้ประกอบการ สถาปนิก วิศวกร จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมก่อสร้างดิจิทัล หรือ ดิจิทัล คอนสตรัคชั่น และภูมิทัศน์ใหม่ๆ โดยปัจจุบัน มีวิศวกรในประเทศไทยจำนวน 240,000 คน สถาปนิก 20,000 คน

ทั้งนี้ BIM (Building Information Modeling) เป็นหนึ่งในกลไกของ ดิจิทัล คอนสตรัคชั่น จากการบูรณาการของทุกส่วนในงานก่อสร้างไว้บนโมเดลเดียวกัน สร้างความก้าวหน้าท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น และคลื่นเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามา อาทิ การสื่อสาร 5G , 3D พริ้นติ้ง, โรโบติก และ ออโตเมชั่น เพื่อพัฒนางานก่อสร้างให้ทรงพลังอย่างยั่งยืน เพิ่มคุณภาพ ประหยัดกำลังคนแก้ปัญหาแรงงานที่ขาดแคลน ประหยัดเวลาและพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการบริหารจัดการที่แม่นยำและโปร่งใส

นายวิจิตร ศิลาวิเศษฤทธิ์
วิจิตร ศิลาวิเศษฤทธิ์

นายวิจิตร ศิลาวิเศษฤทธิ์ สภาสถาปนิก กล่าวว่า BIM หรือ Building Information Modeling เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับวงการก่อสร้าง โดยเป็นกระบวนการ ตั้งแต่การเริ่มต้นของอาคารจนครบวงจรชีวิตของอาคาร (Life Cycle) เริ่มตั้งแต่การวางโจทย์โครงการ , วิเคราะห์-ออกแบบแนวคิดโครงการ , การออกแบบอาคารหรือโครงสร้างด้วยแบบจำลอง 3 มิติ โดยสามารถสร้างแบบจำลองเสมือนจริงในคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงการคำนวณ ระบุขนาด สเปค จำนวนวัสดุ

ดังนั้น กระบวนการที่ครบวงจรดังกล่าว จะส่งผลดีต่อสถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบทุกฝ่าย ทั้งงานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบ สามารถทำงานบนโมเดลเดียวกันได้ ทำให้ประสานงานระหว่างทีมออกแบบและบริหารต้นทุนโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดกระบวนการตั้งแต่ออกแบบจำลองแบบอาคาร 3 มิติ ทดสอบ และควบคุมงานก่อสร้าง การบำรุงรักษาหลังสร้างเสร็จ

S 16064700

ในอนาคตบทบาทของอุตสาหกรรมก่อสร้างและ BIM จะสามารถวางโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบของ BIM ซึ่งจะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการเมืองแบบสมาร์ท ซิตี้ ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลของเมืองในรูปแบบดิจิทัล ที่สามารถนำไปใช้กับการวิเคราะห์ บริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในยุคดิสรัปชั่นสถาปนิกและวิศวกรต้องเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง เช่น BIM , เอไอ จะเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วสท., สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก ได้เริ่มศึกษาและวิจัยพัฒนาแนวทางการใช้เทคโนโลยี BIM 2 เล่ม ด้วยความร่วมมือจากองค์กรในประเทศและนานาประเทศ อาทิ ยุโรป ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม เพื่อให้ BIM Standard เป็นมาตรฐานกลางที่สามารถใช้ทำงานร่วมกับผู้อื่น ต่างองค์กรและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2563

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีศักยภาพและจุดเด่นการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน แต่ยังนำเทคโนโลยี BIM มาใช้น้อย เนื่องจากชุดคำสั่งมีราคาต้นทุนสูง และการใช้งานหลายอย่างไม่เหมาะกับความต้องการที่แตกต่างในประเทศไทย ทำให้หลายองค์กรยังคงนิยมใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมแบบ 2 มิติ

กิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์
กิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์

นายกิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ กรรมการ สภาวิศวกร กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้น มูลค่าก่อสร้างในภาครัฐในปี 2561 มีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาทในปี 2562 เติบโตเฉลี่ย 3 – 5% ขณะที่มูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมก่อสร้างโดยรวมในปี 2562 ปี 2563 และปี 2564 จะเติบโต 3.5 – 5.0% , 5 – 7% และ 7.5 – 9.5% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ปริมาณงานก่อสร้างในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ในระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวเช่นเดียวกัน ดังนั้น BIM จึงเป็นความท้าทายของประเทศไทย เป็นบททดสอบให้ผู้ประกอบการ 80,000 ราย วิศวกรกว่า 240,000 คน สถาบันการศึกษาและคนไทยทุกคนได้พัฒนาศักยภาพและทำงานร่วมกัน อุปสรรคมักเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสใหม่ๆ เสมอ

IMG 0493 copy

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ได้สรุป 5 ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1. ขอให้รัฐบาลบรรจุแผนพัฒนา BIM เป็นวาระแห่งชาติ ไว้ในแผนดิจิทัลแห่งชาติและ ไทยแลนด์ 4.0 2. รองรับอนาคต โดย BIM จะเชื่อมต่อทำให้นโยบายพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ ของไทยมีประสิทธิภาพและขับเคลื่อนได้รวดเร็ว 3. เร่งยกระดับการพัฒนาประเทศและศักยภาพก่อสร้างไทยเป็นดิจิทัล คอนสตรัคชั่นที่แข่งขันได้ในเวทีสากล 4. รัฐบาลควรเร่งพัฒนาบุคคลากรด้าน BIM และ 5. หน่วยงานรัฐควรส่งเสริมการใช้ Thailand BIM Standard เพื่อเป็นมาตรฐานกลางของประเทศไทยสำหรับงานก่อสร้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยสอดคล้องกับหลักสากล

ทั้งนี้ ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 ซึ่งจัดโดย วสท.ในวันที่ 13 – 15 พ.ย. 62 ณ ฮอลล์ 4 อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้ธีม “Engineering for Society : Digital Transformation” ซึ่งเป็นมหกรรมแสดงผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อม 55 หัวข้อสัมมนา สำหรับคนไทยได้มาอัพเดทกับโลกที่เปลี่ยนแปลง จะเปิดเวทีเสวนา เรื่อง “3 องค์กรวิชาชีพปักธง BIM Standard ประเทศไทย…ยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างดิจิทัลรองรับยุคเทรดวอร์ – ดิสรัปชั่น” เพื่อระดมข้อคิดเห็นเสนอข้อกำหนดต่างๆ สู่การยกร่างเป็นมาตรฐานดิจิทัลคอนสตรัคชั่น (Digital Construction) ระดับประเทศ

Avatar photo