Business

สัญญาเขียนชัด! ‘CP’ เก็บค่าโดยสาร ‘แอร์พอร์ตลิงก์’ ได้สูงสุด 97 บาทต่อเที่ยว

สัญญา “ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน” เขียนชัด! “กลุ่ม CP” เก็บค่าโดยสาร “แอร์พอร์ต เรล ลิงก์” ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ได้สูงสุด 97 บาทต่อเที่ยว แถมมีสิทธิปรับราคาตามอัตราเงินเฟ้อ ด้านการก่อสร้างหากล่าช้า “CP” จะถูกปรับวันละ 11 ล้านบาท

S 15925408

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (6 พ.ย.) เว็บไซต์ www.railway.co.th ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  และเว็บไซต์ www.eeco.or.th ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เผยแพร่สัญญาและเอกสารแนบท้ายสัญญา “โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท” ระหว่างการรถไฟฯ และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่ม CP) ให้สื่อมวลชนและสาธารณชนช่วยตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟฯ ได้เปิดเผยข้อมูลสาระสำคัญของสัญญาร่วมทุน (PPP) และวิธีการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินบนเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้

โดยสัญญา PPP ระหว่างรัฐและเอกชน ได้กำหนดให้การรถไฟฯ มีหน้าที่ให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุนในรถไฟความเร็วสูง, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ และส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท, สิทธิการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟฯ ของโครงการ และสิทธิการดำเนินกิจการทางพาณิชย์แก่เอกชนคู่สัญญา นอกจากนี้ การรถไฟฯ มีหน้าที่จัดหาและชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ แก่กลุ่ม CP รวมถึงจัดหาและส่งมอบพื้นที่ของโครงการฯ ให้แก่กลุ่ม CP

ด้านกลุ่ม CP มีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และส่วนต่อขยาย, การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟฯ ของโครงการฯ และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์

fig 09 05 2019 10 17 01

แบ่งหน้าที่การรถไฟฯ-กลุ่ม CP

ด้านการรถไฟฯ มีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากเอกชนคู่สัญญาดังนี้

1.ส่วนแบ่งรายได้ (Revenue sharing) ในระหว่างการให้บริการเดินรถในส่วนของรถไฟความเร็วสูง, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และส่วนต่อขยาย, การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในสัญญา PPP

2.ค่าให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาร่วมทุนในแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท

3.ค่าเช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญา PPP โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องชำระเป็นรายปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่ เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ

fig 09 05 2019 10 15 33

ด้านกลุ่ม CP มีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากโครงการฯ คือ รายได้จากการดำเนินโครงการฯ ในส่วนรถไฟความเร็วสูง, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และส่วนต่อขยาย, การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ ภายหลังแบ่งส่วนแบ่งรายได้แก่การรถไฟฯ แล้ว

ขณะเดียวกันกลุ่ม CP มีสิทธิได้รับเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ เป็นจำนวนไม่เกิน 149,650 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐจะชำระเป็นระยะเวลา 10 ปี ปีละเท่าๆ กันนับตั้งแต่เปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง ขณะเดียวกันก็มีสิทธิได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ด้านระยะเวลาโครงการฯ เท่ากับระยะเวลาการดำเนินงานรถไฟความเร็วสูงซึ่งอยู่ที่ 50 ปี โดยทรัพย์สินในโครงการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง, แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และส่วนต่อขยาย รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟฯ ของโครงการ และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ จะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง

สถานี ไฮสปีด รถไฟความเร็วสูง

ล่าช้าถูกปรับวันละ 11 ล้านบาท

สำหรับการรถไฟฯ จะต้องส่งมอบพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-สนามบินดอนเมือง ให้แก่กลุ่ม CP ภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามสัญญา

หากส่งมอบไม่ได้ โดยไม่ใช่ความผิดของเอกชน สิทธิของคู่สัญญาจะเป็นไปตามกฎหมายไทย โดยกรณีที่ยังไม่มีการเลิกสัญญา PPP จะไม่มีการชดเชยค่าเสียหายเป็นตัวเงิน แต่จะชดเชย โดยการขยายระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้างออกไปอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมเท่านั้น

ทั้งนี้ หากกลุ่ม CP ไม่สามารถออกแบบและก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ภายในระยะเวลา 5 ปี หรือภายในระยะเวลาที่ได้รับการขยายจากการรถไฟฯ เอกชนต้องจ่ายค่าปรับให้การรถไฟฯ เป็นจำนวนเงิน 9 ล้านบาทต่อวัน แต่หากออกแบบและก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนต่อขยาย ไม่เสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี ก็ต้องชำระค่าปรับเป็นเงิน 2.28 ล้านบาทแก่การรถไฟฯ หรือรวมแล้วเป็นเงิน 11.28 ล้านบาทต่อวัน

กรณีที่ความล่าช้าก่อให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟฯ และค่าเสียหายมีจำนวนมากกว่าค่าปรับ เอกชนคู่สัญญาจะต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่การรถไฟฯ เท่ากับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

S 72540201

ค่าโดยสาร “แอร์พอร์ตลิงก์” 97 บาท

สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ตามสัญญาเป็นไปดังนี้

  • การจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ จะต้องมีอัตราไม่เกิน 45 บาทต่อเที่ยวเท่ากับปัจจุบัน แต่เมื่อมีการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายอีก 2 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมืองและบางซื่อ ก็สามารถเก็บค่าโดยสารได้สูงสุดไม่เกิน 97 บาทต่อเที่ยว
  • การจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงตลอดเส้นทางต้องอยู่ในอัตราไม่เกิน 490 บาทต่อเที่ยว

ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าโดยสารจะเป็นไปตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งประกาศโดยกองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตามระยะเวลาและแนวทางการคำนวณที่กำหนดไว้ในสัญญา PPP

Avatar photo