Economics

เอสซีจี-CAS ทุ่ม 500 ล้านบาท ระดมทัพนักวิจัยร่วมพัฒนาสุดยอดนวัตกรรม

“เอสซีจี” ผสานพลัง “CAS” จากจีนระดมทัพนักวิจัย ร่วมพัฒนาสุดยอดเทคโนโลยีแห่งอนาคต เสริมแกร่งนวัตกรรม ตอบโจทย์ลูกค้า เพิ่มขีดแข่งขันอุตสาหกรรมไทย-จีน มูลค่าโครงการเริ่มต้นกว่า 500 ล้านบาท ภายใน 1-2 ปีเห็นผลเบื้องต้น

4 1 ปก

วานนี้ ( 5 พ.ย.) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences : CAS) องค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก จับมือเอสซีจี ผ่านสำนักงานนวัตกรรม และความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS Innovation Cooperation Center (Bangkok) หรือ CAS ICCB ร่วมพัฒนา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม 5 อุตสาหกรรม มูลค่าโครงการลงทุนร่วมกันเบื้องต้นกว่า 100 ล้านหยวน หรือ 500 ล้านบาท

5 ศูนย์ความร่วมมือ SCG CAS ICCB Innovation Hub

ความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย

1.การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ “SCG-CAS ICCB Innovation Hub” ที่ อาคาร INC2 Tower D สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี เพื่อเป็นแหล่งสร้างความร่วมมือกับภายนอก เป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดงผลงานนวัตกรรม ,จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ รวมถึงพื้นที่ห้องทดลอง เพื่อทำวิจัย และพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมร่วมกันระหว่างเอสซีจีกับ CAS และสำหรับนักวิจัยจาก CAS โดยเฉพาะ

และพื้นที่ดังกล่าวยังเปิดกว้างสำหรับการบ่มเพาะธุรกิจ และการทดลองเชิงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพจากจีนที่มีศักยภาพ และสนใจมาทำธุรกิจในอาเซียนร่วมกับเอสซีจี ทั้งในรูปแบบของการให้คำปรึกษา การทำโครงการร่วมกัน หรือการทดลองใช้นวัตกรรมเพื่อขยายตลาด เป็นต้น

6 2 ความร่วมมือที่ผ่านมาในการจัดการมลพิษด้วยนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศ

6 การทดลองใช้เทคโนโลยี Sensor และ IoT จากความร่วมมือที่ผ่านมา

2. การนำเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วเบื้องต้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย ผ่านการถ่ายทอดและอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี (Technology Transfer and Licensing)

ทั้งในรูปแบบการนำเทคโนโลยีที่ CAS หรือ เครือข่ายสตาร์ทอัพของ CAS มาประยุกต์ใช้ในด้านอื่น หรือพัฒนาเป็นโซลูชันใหม่ของเอสซีจี และการขออนุญาตใช้สิทธิในเทคโนโลยี หรือทรัพย์สินทางปัญญาของ CAS ที่มีความจำเพาะ เพื่อนำมาพัฒนานวัตกรรมต่อไป เช่น การนำเทคโนโลยี sensor และ IoT ของ CAS มาใช้สร้างเป็นโซลูชั่นต่าง ๆ ของเอสซีจี เช่น Smart building หรือ Plant reliability monitoring เป็นต้น

5 3 พื้นที่ห้องทดลองเพื่อทำวิจัยและพัฒนาต่อยอด

3. ร่วมวิจัย และพัฒนานวัตกรรม (Joint Research Project) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่มธุรกิจของเอสซีจี โดยนักวิจัยมาจากแต่ละกลุ่มธุรกิจของเอสซีจีกับนักวิจัยจาก CAS

4. เป็นแหล่งบ่มเพาะ เพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศไทย และจีน ผ่านการอบรมเฉพาะทาง การศึกษาขั้นสูง หรือการเรียนในหลักสูตรระยะสั้น ทั้งในรูปแบบการแบ่งปันความรู้ในหัวข้อเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมด้านต่าง ๆ และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ เวิร์คช็อปในเรื่องที่น่าสนใจ โดยผู้เชี่ยวชาญจากเอสซีจี หรือ CAS หรือเครือข่ายความร่วมมืออื่น ๆ

5.การสร้างความร่วมมือด้านการลงทุน โดยหาโอกาสการลงทุนในกองทุนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูงในประเทศจีน หรือศึกษาความเป็นไปได้ ในการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน”

2 รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส เอสซีจี และ ดร. เจียง เปียว CAS ICCB

ดร. เจียง เปียว ผู้อำนวยการ CAS ICCB เป็นหนึ่งในสำนักงานต่างประเทศ 9 สาขาของ CAS ที่มีบทบาทในการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ เพื่อถ่ายทอดผลงานทางวิทยาศาสตร์ของ CAS ซึ่งมีสถาบันวิจัยมากกว่า 100 แห่งในจีน นักวิจัยและทีมงานกว่า 70,000 คน เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ระดับเมธีวิจัยอาวุโสมากกว่า 800 คน และมหาวิทยาลัยในสังกัด 3 แห่ง

สำหรับในไทยและอาเซียน เรามีความร่วมมือกับเอสซีจีเป็นแห่งแรก เพื่อเชื่อมโยงเอสซีจี ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมของไทย และภูมิภาคอาเซียน นำไปสู่แหล่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำของโลก ทั้งจาก CAS และเครือข่ายอื่น ๆ ในประเทศจีน

3 2

โดยมุ่งเน้นใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประกอบด้วย

1. เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เช่น อาคารอัจฉริยะ (Smart building) การบริหารพลังงาน (Energy management)

2. ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ (AI / Machine learning and Robotics)

3. เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Chemicals)

4. ธุรกิจพลังงานใหม่ (New energy business) เช่น พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) แบตเตอรี่ หรือระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System)

5. สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Environment and sustainability)

เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจสูง สามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้อย่างหลากหลายทั่วโลก และตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของเอสซีจี

ทั้งนี้ CAS ICCB เชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมของทั้งไทยและจีน จากการที่ CAS จะได้มีโอกาสในการทดลองตลาดนวัตกรรมในประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ตามแนวทาง Belt and Road Initiative (BRI) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน

ภายใต้มูลค่าโครงการในระยะเริ่มต้น ที่ประกอบด้วยต้นทุนนักวิจัย เทคโนโลยี สถานที่และเครื่องมือในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงผลตอบแทนจากการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมกว่า 100 ล้านหยวน ประมาณ 500 ล้านบาท

4 พิธีลงนามความร่วมมือ ณ ทำเนียบรัฐบาล

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีความสำคัญมาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ฯพณฯ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยานด้วย เพราะ CAS เป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ระดับสูง ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเป็นแหล่งกำเนิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญของจีน

ดังนั้นความร่วมมือนี้จะไม่มีกรอบเวลาสิ้นสุด โดยจะพัฒนาร่วมกันไปอย่างต่อเนื่อง แต่ยังบอกไม่ได้ชัดเจนนักว่านวัตกรรมที่จะออกมาเชิงพาณิชย์ คืออะไรบ้าง อยู่ระหว่างการวางแผนธุรกิจ ซึ่งบางเรื่องต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัย และบางเรื่องเราก็ทำมาแล้ว แต่เทคโนโลยีเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องก้าวตามให้ทัน เช่น โซลาร์เซลล์ เป็นต้น เพราะโลกในยุคปัจจุบันเราจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้

อย่างไรก็ตามคาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้น่าจะมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมออกมาบางส่วน โดยบางเรื่องเอสซีจี หรือ CAS ใช้ แต่บางเรื่องอาจต่อยอดร่วมกัน แต่ช่วงแรกคงจะเป็นการค้าขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าองค์กรก่อน ( B2B) จากนั้นจึงจะไปที่ลูกค้าทั่วไป (B2C) ในส่วนของเอสซีจี เราคงช่วยในเรื่องการขยายตลาดในอาเซียนได้อย่างดี

“เอสซีจีเห็นว่าการสร้างความร่วมมือกับสถาบัน และองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ทั้งใน และต่างประเทศมีความสำคัญมาก เพื่อเสริมศักยภาพ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมาเอสซีจีก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้มีสินค้า และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วภูมิภาคอาเซียนได้อย่างรวดเร็ว และตรงจุดยิ่งขึ้น และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ “

7 นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ของเอสซีจี 1

ทั้งนี้จะเห็นได้ปี 2561 ที่ผ่านมา เอสซีจีมียอดขายสินค้า และบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) มากถึง 184,965 ล้านบาท คิดเป็น 39% ของยอดขายรวม โดยทุ่มงบวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 4,674 ล้านบาท คิดเป็น 1 % ของยอดขาย และอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้นอย่างแน่นอน

Avatar photo