Politics

‘ไอเอ็มเอฟ’ จ่อนำ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ เผยแพร่ทั่วโลก

ชื่นมื่น!! “ไอเอ็มเอฟ” เข้าหารือ “นายกรัฐมนตรี” จ่อนำหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของรัชกาลที่ 9 เผยแพร่ให้ทั่วโลกรับรู้ มั่นใจไทยยังมีศักยภาพในการพัฒนาได้อีกมาก

IMF รัฐบาล5113

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้การต้อนรับ นางคริสตาลินา กอร์เกียว่า (Kristalina Georgieva) กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) พร้อมจับมือพาชมทัศนียภาพโดยรอบทำเนียบรัฐบาล รวมถึงตึกภักดีบดินทร์และตึกไทยคู่ฟ้า

ทั้งนี้ ภายหลังการหารือนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานว่า นางคริสตาลินาได้เล่าให้นายกรัฐมนตรีฟังว่าการเดินทางมาครั้งนี้ เพื่อมาร่วมประชุมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งความจริงได้พบกับนายกรัฐมนตรีระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 แล้ว และได้มีการพูดคุยกันเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าทางธนาคารกลางของแต่ละประเทศ มีความเป็นห่วงในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและจะต้องมีการปรับตัวและเตรียมมาตรการในการรองรับ

IMF รัฐบาล5112

โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ประเทศไทยดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมาโดยตลอด และมีแผนปฏิบัติการเรื่องของฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและขจัดขยะทางทะเล รวมทั้งการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งทางกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ ก็ได้ชื่นชมประเทศไทย

ส่วนรายงานในเรื่องของสภาพเศรษฐกิจโลก นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า ในหลายข้อเสนอแนะเราพร้อมที่จะรับมาดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบายด้านการเงินที่ทางไอเอ็มเอฟระบุว่า ไทยยังสามารถจะปรับได้อีก ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องของระยะยาว คือการปรับโครงสร้างขนาดใหญ่  ในเรื่องของการศึกษาจะพัฒนาอย่างไรให้มีคุณภาพ  การพัฒนาทรัพยากรบุคคล  และการพัฒนาทักษะแรงงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันว่า สิ่งเหล่านี้อยู่ในแผนพัฒนาและแผนยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว โดยไอเอ็มเอฟ มองประเทศไทยว่า ยังมีจุดที่สามารถพัฒนาได้อีกมากตามศักยภาพที่มี

IMF รัฐบาล5114

นางคริสตาลินา กล่าวว่า ก่อนเดินทางมาประเทศไทย เพิ่งได้อ่านหนังสือและได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และคิดว่าเป็นหลักปรัชญาที่ทางไอเอ็มเอฟจะนำไปเผยแพร่ให้ทั่วโลกได้รับรู้ เพราะสอดคล้องกับหลักการของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟ ไม่ได้พูดคุยถึงภาพรวมภายหลังการเลือกตั้ง แต่มองว่าในปัจจุบันประเทศไทยยังมีเสถียรภาพ  ซึ่งหลังการเลือกตั้งน่าจะมีการปฎิรูปในหลายด้าน ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ทางไอเอ็มเอฟไม่ได้พูดชัดเจน แค่บอกว่ายังมีช่องทางที่สามารถปรับได้อีก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้มากขึ้น

Avatar photo