Economics

‘สนพ.’ จับมือ 3 การไฟฟ้า ถกแผนยกระดับ ‘โครงสร้างระบบไฟฟ้าประเทศ’

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเวทีสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจภาคประชาชน เรื่องระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดครั้งแรก ที่กรุงเทพมหานคร ขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในประเทศ เชิญ 3 การไฟฟ้าร่วมเสวนาแผนงาน แนวโน้มทิศทางยกระดับโครงสร้างระบบไฟฟ้าประเทศ

S 29212681

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ประธานเปิดการสัมมนาหัวข้อ “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” กล่าวว่า สนพ.เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาไฟฟ้าประเทศ

“ระบบสมาร์ทกริด ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาภาพรวมของอุตสาหกรรมไฟฟ้า รวมทั้งการพัฒนาตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ คือการนำเทคโนโลยีหลากหลายประเภทเข้ามาทำงานร่วมกันในระบบไฟฟ้า ครอบคลุมเทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้า ด้านการส่งไฟฟ้า ด้านการจำหน่ายไฟฟ้า ไปจนถึงด้านผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งยังครอบคลุมไปถึงภาคการส่งขนส่งที่สามารถรองรับการนำยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี เข้ามาใช้งานในอนาคตด้วย”

กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยระยะยาว 20 ปี (พ.ศ. 2558 -2579) โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการ (พ.ศ. 2558- 2559) ระยะสั้น (พ.ศ. 2560 – 2564) ระยะปานกลาง (พ.ศ. 2565 – 2574) และระยะยาว (พ.ศ. 2575 – 2579) โดยวางนโยบายและกรอบทิศทางการดำเนินงาน เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐคือ 3 การไฟฟ้า กฟผ. กฟภ. กฟน. และภาคเอกชน ได้กำหนดทิศทางแผนการพัฒนาและการลงทุนที่สอดคล้องตามนโยบายของประเทศ

“การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด จะเป็นการยกระดับโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะทำให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบไฟฟ้าสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่ สนพ.ตั้งเป้าหมายไว้ในเรื่อง Green Society ส่วนอีก 2 เป้าหมาย คือ Smart System และ Smart Life จะเป็นการยกระดับของระบบไฟฟ้าและคุณภาพบริการที่มีต่อผู้ใช้ไฟฟ้าตามลำดับ”

S 29212699

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการกองไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ซึ่งในส่วนของเทคโนโลยีพลังงานก็มีความก้าวหน้ามาก เช่น ปัจจุบันเราสามารถควบคุมการบริหารจัดการได้ด้วยตัวเองผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการจัดการพลังงาน

สำหรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดนั้นจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดการต่อยอดเรื่องเศรษฐกิจการลงทุน และเกิดการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

S 29212692

นายนภดล ประเสริฐกาญจนา ผู้ตรวจการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวในงานสัมมนาว่า แนวโน้มการใช้พลังงานหมุนเวียนใน 4-5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ราคาพลังงานทดแทนมีราคาถูกลง มีการพูดกันถึงเรื่องแบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตพลังงานที่ชาญฉลาดแบบนี้ การไฟฟ้าอาจไม่ใช่ผู้เล่นรายเดียวแล้ว แต่จะมีโรงไฟฟ้าเล็ก ๆ เกิดขึ้นอีกมาก ส่วนแผนขับเคลื่อนด้านโครงข่ายระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริด กฟน.ได้ดำเนินงานตามแผนระยะสั้น 3 โครงการ

1.ระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคาร พัฒนาเป็นอุปกรณ์เกตเวย์รับข้อมูลจากผู้ใช้ไฟเพื่อมาบริหารจัดการระบบ

2.การตอบสนองด้านโหลดและกลไกราคา จะแสวงหาวิธีควบคุมการใช้พลังงาน

3.ทดลองโครงการ Micro Grid ที่เขตหนองจอก ซึ่งช่วงแรกจะเป็นการศึกษาเรียนรู้ระบบไปก่อน

S 29220880

นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กฟภ. อยู่ในช่วงนำร่องทำโครงการต่าง ๆ เน้นด้านการตอบสนองโหลดหรือระบบบริหารจัดการพลังงาน คือ พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าระยะ 1 (Demand Response) การบริหารจัดการไฟฟ้า หากทำสำเร็จนอกจากประหยัดไฟแล้ว ยังได้เงินกลับคืน

อีกทั้งยังมีโครงการ Smart Grid ที่พัทยา คือจะมีการเปลี่ยนมิเตอร์จากเดิมที่เป็นจานหมุนมาเป็นแบบสมาร์ทมิเตอร์ประมาณ 120,000 เครื่อง ผู้บริโภคสามารถเช็คค่าไฟได้จากแอพพลิเคชั่น PEA Smart Plus ที่สามารถตรวจสอบค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าขัดข้อง จ่ายค่าไฟได้

สัมมนาสมาร์ทกริด 191030 0004

ดร.ฐิติพร สังข์เพชร หัวหน้ากองวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ฝ่ายแผนการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.เริ่มพัฒนาระบบกริดให้มีความทันสมัยและยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนและพลังงานรูปแบบใหม่ที่จะเริ่มเข้าระบบมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังมีแผนการเชื่อมระบบไฟฟ้ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ (Grid Connectivity) เพื่อมุ่งสู่การเป็นฮับพลังงานอาเซียน เพื่อความยั่งยืนของระบบไฟฟ้าในประเทศ

S 29220893

กิจกรรมการจัดสัมมนา “สมาร์ทกริด (Smart Grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อเมืองอนาคต” จะจัดต่อเนื่องโดยระยะแรกเริ่มจากกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและต่างจังหวัด เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจของสาธารณชนต่อแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ดกริด ที่ได้ถูกบรรจุเข้าไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2018) เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบนโยบาย แผนงาน และทิศทางการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Avatar photo