Economics

‘หมอพลเดช’ เคาะ 5 โครงการ บรีฟผู้บริหารกระทรวงพลังงานเดินหน้า

“หมอพลเดช” เคาะ 5 โครงการ ผลักดันพลังงานเพื่อชุมชน เสนอทำ “กิจการไฟฟ้า” เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ลดยากจน-เหลื่อมล้ำ แนะดึงเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ 1,300 ล้านดำเนินงาน ผู้บริหารกระทรวงพลังงานรับลูก อีก 10 วันถกรายละเอียด เดินหน้าปฏิบัติ

LINE P20191027 214526085

หลังจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานดึงนพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีประสบการณ์การทำงานเศรษฐกิจฐานมาก มาช่วยศึกษาโมเดลการทำให้พลังงานลงไปถึงชุมชนตามแนวคิด “พลังงานเพื่อทุกคน” หรือ “Energy for All “ ถอดแบบ “Health for All” หรือ “สุขภาพเพื่อคนทั้งมวล” ที่มีการวางรากฐานให้คนเข้าถึงระบบสาธารณสุข ทั้งเชิงป้องกันและรักษา ที่นพ.พลเดช เคยคลุกคลีมาก่อน

หลายเดือนมาแล้วที่นายสนธิรัตน์ ไฟเขียวให้นพ.พลเดช และคณะทำงานศึกษาโมเดล “พลังงานเพื่อทุกคน” ที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงในระดับพื้นที่ โดยนพ.พลเดช พร้อมคณะได้เดินทางลงในหลายชุมชนของจังหวัดต่างๆ บวกกับแนวคิดนิยมเศรษฐกิจฐานรากด้วยแล้ว ไม่นานเขาเคาะโมเดลมา 4 แบบ ซึ่งได้บอกเล่าให้นายสนธิรัตน์ไปเรียบร้อยแล้ว และไฟเขียว เอาด้วยทั้งหมด ประกอบด้วย

1.Smart Hybrid off Grid Power Plant ทำให้ชุมชนที่อยู่ห่างไกล และยากจน เช่น อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีไฟฟ้าใช้ให้ครอบคลุม ซึ่งหลายพันชุมชน

2.Smart Hybrid off/on Grid Power Plant ชุมชนที่ไฟฟ้าเข้าถึงแล้ว แต่อยู่ปลายสายสายส่ง เกิดปัญหาไฟฟ้าตกๆดับๆตลอดเวลา จะต้องเข้ามาสนับสนุนพลังงานทางเลือกต่างๆ เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และมีเครื่องปั่นไฟเป็นทางเลือก

3. Station Energy หรือ สถานีพลังงาน เป็นโมเดลการใช้พลังงานอย่างผสมผสาน แบบ“ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือกกาญจนบุรี” เป็นการเชื่อมโยงใช้พลังงานแบบผสมผสาน ในกระบวนการผลิตต่างๆ มีการติดตั้งโซลาเซลล์ มาใช้สูบน้ำในแปลงเกษตรปลอดสารพิษ ใช้ในห้องเย็นเก็บผลผลิต โรงงานผลิตน้ำแข็ง และยังมีการผลิตน้ำมันดีเซล จากขยะพลาสติก ดำเนินงานในลักษณะวิสาหกิจชุมชน

4. ปั๊มน้ำมันชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 1,200 แห่ง ส่งเสริมให้ผลิตน้ำมันใช้เอง จากขยะพลาสติกที่มีในชุมชน ช่วยลดต้นทุนเหลือลิตรละ 7 บาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา นพ.พลเดช ได้เข้าบรีฟกับผู้บริหารกระทรวงพลังงานระดับนโยบาย ประกอบด้วย ปลัด และรองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการ อธิบดี และรองอธิบดีกรมต่างๆ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นต้น รวม กว่า 40 ชีวิต เพื่อนำไปกำหนดนโยบาย ให้สอดคล้องกับโมเดลของนพ.พลเดช และให้เป็นเอกภาพ ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีนายสนธิรัตน์ร่วมรับฟังด้วย

S 9625648

นพ.พลเดช เล่าว่า ตนเองทำหน้าที่ทำการบ้านให้รัฐมนตรีพลังงาน ซึ่งสนใจเศรษฐกิจฐานรากอย่างจริงจัง หลังจากเรื่องนี้ถูกทอดทิ้งไปเป็นสิบปี โดยตนเองเข้ามาทำหน้าที่ “ช่วยคิด” เท่านั้น ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับระดับการตัดสินใจ  และตอนนี้ได้แปรจาก 4 โมเดล ที่นำเสนอนายสนธิรัตน์ไปแล้ว ออกเป็น 5 โครงการ เน้นทำใน 3 ปีให้เห็นผลก่อนในล็อตแรก เพื่อเดินหน้าขยายต่อในระยะต่อไป

ประกอบด้วย 1.”กิจการไฟฟ้าชุมชน” ในพื้นที่ห่างไกล เรียกว่า เป็น Social Service คอนเซปต์คนละแบบกับโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ใช้เงินลงทุนสูงราว 130 ล้านบาท ต่อ 1.5 เมกะวัตต์ มีเอกชนมาร่วมลงทุนด้วย แต่สำหรับโครงการ “กิจการไฟฟ้า”  เป็นงานบริการชุมชน ให้ชุมชนผลิตไฟฟ้าใช้เอง มีการดำเนินงานแบบรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือ ตั้งกองทุนเป็นกลไกในการดำเนินงาน

thailand 997413 640 ใหม่

โครงการนี้เสนอให้ทำในชุมชนห่างไกลมีประมาณ 1,200-1,300 ชุมชนอยู่ในอุทยานแห่งชาติ หรือเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ชุมชนเหล่านี้อยู่มาก่อนประกาศเขตป่า เช่น ผาด่าน จังหวัดลำพูน หรือโป่งแงะ จังหวัดเชียงราย โดยที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร เพราะถือว่าอยู่อย่างผิดกฎหมาย แต่จริงๆเราละเลยไม่ได้

วิธีการให้ชุมชนเหล่านี้มีไฟฟ้าใช้นั่นคือเป้าหมาย โดยผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และมีแบตเตอรี่ลิเธียมเก็บสำรองไว้ใช้ในช่วงแสงแดดไม่มี กลไกรัฐลงทุนให้ตอนต้น เมื่อชาวบ้านจะต่อไปใช้ในบ้านตนเอง ก็เสียเงิน ในพื้นที่ที่มีโครงการแบบนี้อยู่แล้ว ซึ่งตนเองได้ไปสำรวจมา ชาวบ้านจะเสียเงินประมาณ 2,500 บาทในการต่อไฟฟ้าเข้าบ้าน และยังเสียค่าไฟฟ้าต่างหากหน่วยละ 8 บาท เงินที่ได้ดำเนินงานในลักษณะกองทุนฯ มีการโอนทรัพย์สินให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อให้เป็นเจ้าของดูแลเป็นทางการ ลักษณะแบบนี้ควรขยายให้เกิดขึ้น 100 ชุมชน

โครงการนี้กระทรวงพลังานต้องลงทุนให้ก่อน โดยกลไกกองทุนพลังงานที่มีอยู่ เช่น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 13 ล้านบาทต่อแห่ง รวม 100 ชุมชนใช้เงิน 1,300 ล้านบาท

“โครงการแบบนี้ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ฯ ทำแล้ว นบางจุด นับเป็นโครงการที่ดี แต่ไม่ขยายผล ไม่สร้างแรงกระเพื่อมเท่าที่ควร เพราะไม่มีนโยบายมารองรับ ทำให้หลายชุมชนยากจนถูกทอดทิ้งมานาน เรามาปรุงใหม่เท่านั้น เมื่อบวกกับนโยบายของรัฐมนตรีพลังงานคนนี้ ที่จะเดินหน้าพลังงานชุมชนอย่างจริงจัง หากทำพร้อมกัน 100 ชุมชน ทุกอย่างจะถูกขยายผลเป็นรูปธรรม “

นพ.พลเดช ย้ำว่า โครงการแบบนี้ต้องไม่คิดเรื่องกำไรขาดทุนนำหน้า ต้องคิดว่าทำเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

2. “กิจการไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ปลายสายส่ง” ที่เกิดปัญหาไฟฟ้าตกดับ นำร่อง 100 ชุมชนเช่นเดียวกัน

3. โครงการ “สถานีพลังงานทางเลือก” แบบ “ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือกกาญจนบุรี” ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีการใช้พลังงานอย่างผสมผสาน ติดโซลาร์เซลล์ ผลิตไฟฟ้า และนำไฟที่ได้ มาใช้ในห้องเย็นแช่ผักปลอดสารพิษ ทำโรงน้ำแข็ง รวมถึงกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติก เป็นต้น นำร่อง 20 แห่ง 20 จังหวัด รวม 3 ปี 60 พื้นที่ 60 จังหวัด

IMG 20191026 164312

4.โรงกลั่นชุมชน และปั๊มน้ำมันชุมชน ผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก เชื่อมโยงกับกองทุนหมู่บ้าน และวิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายกองทุนระดับตำบล มี 8-10 หมู่บ้านต่อตำบล เลือกที่มีศักยภาพทำก่อน 200 แห่ง

5.สร้าง “ช่างพลังงานชุมชน” มารองรับทั้ง 4 โครงการ 5,000 คน มาสร้างและบำรุงรักษาในท้องถิ่น สร้างอาชีพให้คนมีงานทำใกล้บ้าน เรื่องนี้นายสนธิรัตน์ เห็นด้วยอย่างยิ่ง และต้องการทำให้มีจำนวนมากกว่านั้น อาจถึง 10,000 คน

IMG 20191026 175231
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป

นพ.พลเดช เล่าต่อว่า ทราบว่าหลังจากระดับผู้บริหารรับฟังในวันนั้น ได้มีการมอบการบ้าน และจะนำมาหารือในอีก 10 วัน ในส่วนของตนเอง ก็พร้อมจะระดมเครือข่ายจังหวัดต่างๆมาร่วมพูดคุยกับกระทรวงพลังงาน เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระดับพื้นที่ให้โครงการเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ดูแลเงินกองทุนฯก็จริงจังในเรื่องนี้ และต้องการให้เกิดการประสานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างเครือข่ายในชุมชนต่างๆ กับกลไกการทำงานของกระทรวงในระดับพื้นที่

 

Avatar photo