Politics

‘นพ.ประเวศ’ ชี้ ‘เหลื่อมล้ำ’ ปัญหาความมั่นคงยุคใหม่ ‘อำนาจเงิน’ เหตุปชต. บิดเบี้ยว

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถาในการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 21 ประจำปี 2562 เรื่อง​ “ความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างอำนาจรัฐ” ว่า  การลดความเหลือมล้ำถือเป็นเรื่องระดับชาติที่ต้องขับเคลื่อน เพราะความเหลื่อมล้ำ คือ ความไม่เป็นธรรม และความไม่เป็นธรรมนั้นสร้างความเหลื่อมล้ำ และส่งผลก่อให้เกิดประชาธิปไตยที่ไม่ตรงไปตรงมา เพราะอำนาจเงินเข้ามามีบทบาท

จับภาพ

หากไม่เร่งแก้ปัญหา จะทำให้เสียสมดุล และนำไปสู่ความไม่มั่นคง เหมือนกับปรากฎการณ์ธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เพราะเกิดจากการเสียสมดุลในธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่เสียสมดุลจะนำไปสู่ความปั่นป่วน วุ่นวาย รุนแรง ไม่มั่นคง โดยเฉพาะกองทัพ ควรต้องดูความมั่นคงสมัยใหม่

ความเหลื่อมล้ำคือ ปัญหาของความมั่นคงสมัยใหม่ที่เข้าใจ และแก้ไขได้ยากกว่าเมื่อก่อน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองไม่เติบโต ดังนั้นต้องใช้สติปัญญาเข้ามาแก้ไข ผ่านการสร้างสมดุลทางอำนาจ ระหว่าง อำนาจรัฐ กับอำนาจเงิน  และอำนาจทางสังคม ผ่านการทำงานร่วมกัน ให้ทุกภาคส่วนมีบทบาท มีอำนาจเสมอกัน และเชื่อมโยงร่วมกัน

นพ.ประเวศ บอกด้วยว่า  ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มี 5 โครงสร้างที่เป็นปัญหา คือ

ปัญหาวิธีคิดสังคมไทย ที่มองว่าความดี ความชั่ว เป็นเรื่องส่วนบุคคล คิดว่าคนจนไม่ดี และสมัยก่อนเรียกคนจนว่า คนเลว ซึ่งมีสุภาษิตกล่าวว่า รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา ดังนั้นต้องทำงานให้หนัก เป็นต้น ดังนั้นวิธีที่เป็นปัญหา คือ การซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ

โครงสร้างทางจิตสำนึก สังคมไทยขาดการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนอย่างเท่าเทียม เพราะมองคนยากจน ไม่มีศักดิ์ศรี  เป็นสังคมที่เกลียดคนจน ส่วนจิตสำนึกเป็นเรื่องลึกที่นำไปสู่พฤติกรรม และมีโครงสร้างจิตสำนึกที่เป็นธรรม

โครงสร้างทางสังคม สังคมไทยเป็นสังคมทางดิ่ง เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนมีอำนาจข้างบน และคนไม่มีอำนาจข้างล่าง หากสังคมใดเป็นแนวดิ่ง ต่อให้เคร่งศาสนา ศีลธรรมจะไม่ดี เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ พุทธศาสนาเป็นของดี แต่มีความเสื่อมเสียทางศีลธรรมสูง เห็นได้จากการมีอัตราฆ่าคนตายสูงถึง 9 เท่าหากเทียบกับสหรัฐ

โครงสร้างเศรษฐกิจ ที่จัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม อำนาจเงินมีความดึงดูด

โครงสร้างอำนาจรัฐ ที่ผ่านมาเคยใช้อำนาจรวมศูนย์เพราะความจำเป็น แต่ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้ อำนาจรัฐ คือ ฝ่ายผู้มีอำนาจที่จะจัดสรรงบประมาณ กำหนดนโยบาย และตัดสินว่าประเทศจะเดินไปทางไหน ดังนั้นประเด็นอำนาจรัฐ จึงไม่มีผลต่อโครงสร้างทั้งหมด

ทางออกของสังคมที่เหลื่อมล้ำ จากการที่อำนาจรัฐ และอำนาจเงินมีบทบาทมาก ในขณะที่อำนาจทางสังคมมีน้อย ก็คือ การสร้างพลังสังคมให้ใหญ่ขึ้น และดึงรัฐ และเงิน เข้ามามีส่วนร่วม ให้มีอำนาจเสมอกันและกลายเป็นสังคมสมานุภาพ ทั้งภาครัฐ เงิน และสังคม เชื่อมโยง และเอื้ออาทรต่อกัน เพื่อให้เกิดความลงตัว

“แนวทางสู่ความสำเร็จ คือ ต้องมีความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกภาคส่วน หมายถึง ความมุ่งมั่นต่อสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ, ต้องมีหลักการร่วมกัน คือ สร้างสังคมให้เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดดุลในอำนาจรัฐ​โดยให้รัฐและทุนร่วมสนับสนุน การปฏิบัติร่วมกัน คือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเชื่อใจร่วมกัน และขั้นตอนสุดท้าย คือ การปรับองค์กร”

Avatar photo