COLUMNISTS

อย่าให้ปัญหา ‘GSP’ เป็นปมขัดแย้ง ‘ไทย-สหรัฐ’

Avatar photo
908

สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเป็นกระแสตื่นตระหนกในหมู่คนไทย เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย 573 รายการ

TT02

ข่าวในตอนแรกคิดมูลค่าเบื้องต้นราว 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือ 39,650 ล้านบาท โดยให้มีผลวันที่ 25 เมษายนปี 2563  แต่กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงในภายหลัง ว่ากระทบจริง แค่ 1,800 ล้านบาท ซึ่งต้องถือว่าเป็นการชี้แจงที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ เพราะปล่อยให้ข่าวที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับมูลค่าผลกระทบที่เกิดขึ้นมากเกินความเป็นจริง แพร่กระจายออกไป โดยไม่สามารถยับยั้งได้อย่างทันท่วงที อันเป็นสาเหตุหลักของความโกลาหลในการแสดงความเห็นของฝ่ายต่างๆตามมา

คำถามที่เกิดขึ้นในหัวของหลายๆ คน คงคิดว่า ทำไมสหรัฐทำกับไทยแบบนี้ หรือเป็นเพราะเราเป็นประเทศที่มีผู้นำเคยทำรัฐประหารมา หรือเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ การสร้างดุลอำนาจในภูมิภาคเอเชีย หรือความพยายามกดดันเพื่อถ่วงดุลกับประเทศจีนหรือเปล่า ไปจนถึงการโยงว่าเกี่ยวกับการแบน 3 สารพิษ ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันแล้วว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นหลังนี้

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนคือ GSP เป็นการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ซึ่งสหรัฐให้สิทธิพิเศษนี้แก่ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวไม่เกิน 12,476 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ประเทศไทยอยู่ในข่ายนี้ด้วย เพราะรายได้ไม่ถึงเพดานที่กำหนดไว้ เราจึงได้สิทธิส่งออกสินค้าไปสหรัฐโดยสามารถจ่ายภาษีต่ำกว่าที่กำหนดไว้ถึง 3 พันกว่ารายการ

แต่คำสั่งที่ออกมาตอนนี้ให้ระงับสิทธิในสินค้า 573 รายการ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นประเภทของกินของใช้ เช่น อาหาร ผักผลไม้ เมล็ดพันธุ์ น้ำเชื่อมน้ำตาล ซอสถั่วเหลือง จนไปถึงเครื่องครัว ประตูหน้าต่าง เครื่องประดับ เหล็กแผ่น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงแล้วว่า จะทำให้สินค้าไทยในรายการเหล่านี้เสียภาษีเพิ่มขึ้นในแต่ละปีประมาณ 1,500 – 1,800 ล้านบาทเท่านั้น ไม่ได้เสียหายเกือบ 4 หมื่นล้านอย่างที่เป็นข่าว ที่สำคัญคือคำสั่งที่ออกมานี้ไม่ได้ยกเลิกสิทธิ์ GSP ทั้งหมด 3 พันกว่ารายการ เพียงแต่ระงับไว้บางส่วนเท่านั้น ไทยยังใช้สิทธิ GSP สินค้าได้อีก 2,900 รายการ

สินค้าที่โดนตัดสิทธิไปคิดเป็นเพียงร้อยละ 4.1 ของมูลค่าสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐ หรือแค่ร้อยละ 0.5 ของมูลค่ารวมของสินค้าส่งออกไทย จึงไม่มีอะไรให้ดราม่าก่นด่าสหรัฐ  เพราะแต่ละประเทศล้วนต้องรักษาผลประโยชน์ตัวเองทั้งสิ้น

สหรัฐให้สิทธิ GSP แก่หลายประเทศ ขณะเดียวกันก็ใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือต่อรอง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งไทยเป็นประเทศในระดับต้นๆ ที่ได้เกินดุลการค้ากับสหรัฐ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากสหรัฐจะต้องมีการปรับสมดุลทางการค้า ด้วยการนำเรื่องการระงับสิทธิ GSP มาต่อรองให้ไทยซื้อสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น เพื่อให้ขาดดุลกับประเทศไทยน้อยลง

ขณะที่รัฐบาลไทย ต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการเจรจา ต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์ ประเทศชาติให้ได้มากที่สุดด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นบททดสอบที่จะพิสูจน์ฝีมือของรัฐบาลด้วย

ล่าสุดนายกรัฐมนตรี พูดถึง การระงับสิทธิ GSP ไว้ในตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลต้องรับมือกับความท้าทายในหลายมิติ อุปสรรคหลายอย่างจะแทรกเข้ามา เช่น GSP ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเรื่องธรรมดาอะไรที่เขาให้ เขาก็เอาคืนได้หมด เพราะเป็นสิทธิประโยชน์ อย่าลืมว่าเราก็โตขึ้นมากแล้ว บางครั้งถ้าเราทำตัวเป็นเด็กเล็กๆ ต่อไปก็ไม่ได้อีก เราต้องสร้างความเข้มแข็ง คนไทยต้องสร้างประเทศไทยให้เข้มแข็งด้วยตัวเราเอง”

ประยุทธ์3010621

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีถือว่าตรงประเด็น เพราะรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะ ยกระดับประเทศไทยออกจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหากทำได้ คนไทยมีรายได้ต่อหัวสูงขึ้น สามารถลืมตาอ้าปากได้ด้วยตัวเอง เราก็จะไม่ได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐอีกแล้ว ดังนั้นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งดำเนินการคือ การเตรียมความพร้อม เพิ่มศักยภาพให้กับภาคเอกชน สามารถแข่งขันทางการค้าได้ โดยไม่ต้องพึ่งสิทธิ GSP จากประเทศที่พัฒนาแล้ว

หลังการแบนสารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพื่อรับมือกับสหรัฐ ที่มีความเป็นห่วงว่า ประเทศของเขาจะได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองกับข้าวสาลีที่ใช้ไกลโฟเซต จะทำให้ไทยลดการนำเข้า หรือเข้มงวดในการนำเข้ามากขึ้นหรือไม่

แน่นอนว่า สหรัฐคงต้องหาวิธีการกดดันไทยเพื่อไม่ให้ประเทศตัวเองเสียประโยชน์ รัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการรับมือและตอบโต้เอาไว้แต่เนิ่น ๆ อีกทั้งต้องให้ข้อมูลที่แท้จริงกับประชาชนด้วยว่า สารที่จะนำมาใช้ทดแทนปลอดภัยกว่าสารเคมีที่ถูกแบนไปอย่างไร และหากจะไม่นำเข้ากากถั่วเหลือง หรือข้าวสาลีที่ปนเปื้อนไกลโฟเซต จะกระทบกับราคาอาหารสัตว์ภายในประเทศหรือไม่อย่างไร

ถ้ามองในแง่ดี อาจถือได้ว่าการระงับสิทธิ GSP ของสหรัฐรอบนี้ ช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความตื่นตัวรับมือต่อสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศ ที่มีแนวโน้มต้องเจรจาต่อรองอย่างเข้มข้นมากขึ้น

ทั้งหมดเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะกำหนดนโยบาย ให้ทันท่วงทีสอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลของทุกประเทศต่างก็มีหน้าที่ ต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง การค้าระหว่างประเทศ จึงไม่ควรถูกนำมาเป็นชนวนปัญหาให้ประชาชน 2 ประเทศ ต้องเกลียดกัน