Business

ในวันที่ ‘หุ้นธนาคาร’ หมดเสน่ห์

165,576 ล้านบาท คือตัวเลขกำไรรวมประจำงวด 9 เดือนแรกของปี 2562 ที่ 11 ธนาคารพาณิชย์ในไทยทำรวมกันได้ ซึ่งโตขึ้นกว่าปีก่อน 2.72% ที่มีกำไร 161,194 ล้านบาท 

BankStock cover 01

คำถาม คือ เกิดอะไรขึ้นกับหุ้นกลุ่มธนาคาร ? เพราะแม้ผลประกอบการจะดีขึ้น แต่ราคาหุ้นแทบทุกตัวบนกระดานเคลื่อนไหวในแดนลบทั้งหมด หลังประกาศงบการเงิน ส่งผลให้ผลตอบแทนย้อนหลังในรอบ 1 ปี ลบมากกว่า 15% แล้ว

เราขอวิเคราะห์เรื่องนี้ออกเป็น 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ ลางร้ายเศรษฐกิจรอบใหม่ การแบกรับต้นทุนเทคโนโลยี และราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี 

1. ลางร้ายเศรษฐกิจรอบใหม่

BankStock P01 01

จริงอยู่ที่งบ 9 เดือนจะยังโตแบบทรงตัว แต่การที่ธนาคารใหญ่อย่าง KBANK ออกมาตั้งเป้าปี 2563 ว่าจะเติบโตลดลง ได้กลายเป็นสัญญาณชัดเจนแล้วว่าอนาคตของธนาคารอื่นๆ คงมีชะตากรรมไม่ต่างกัน

สิ่งสำคัญคือการมาของ Cycle หนี้เสีย (NPL) รอบใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ไตรมาส 3 ปี 2562 กลุ่มธนาคารไทยมี NPL เพิ่มขึ้นถึง 4% แล้ว 

ขณะเดียวกัน กระแสชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ธุรกิจธนาคารซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจ ได้ผลกระทบก่อนใครเพื่อน เพราะมีความเกี่ยวเนื่องไปกับทุกอุตสาหกรรมนั่นเอง

2. แบกรับต้นทุนเทคโนโลยี

BankStock P03 01

แม้การพัฒนาเทคโนโลยีจะนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่มากมาย ถึงอย่างนั้นสิ่งที่หลายแห่งเผชิญคือ “ต้นทุน” แสนแพง สังเกตได้เลยว่าหลายธนาคารที่รุกหน้าด้านเทคโนโลยีแบบจัดเต็ม ล้วนมีต้นทุนที่สูงขึ้นด้วยกันทั้งนั้น

แต่กว่าเทคโนโลยีการเงินสักตัวจะพัฒนาจนเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมาก ล้วนแต่ต้องใช้เวลาทั้งนั้น อย่างตู้ ATM เราใช้มานานถึง 30 ปี ทุกวันนี้ก็ยังหน้าตาเหมือนเดิม เปลี่ยนแค่ระบบเล็กน้อยข้างในเท่านั้น หรือ mobile banking เองก็ใช้เวลาเป็น 10 ปี กว่าที่คนจำนวนมากจะคุ้นชินได้แบบทุกวันนี้

คำถาม คือ ธนาคารจะสามารถแบกต้นทุนส่วนนี้ไว้ได้นานแค่ไหน เพราะเป็นส่วนที่ยังไม่สามารถทำกำไรได้เท่าไหร่นัก เทียบกับค่าธรรมเนียมส่วนอื่นไม่ได้เลย แถมทุกวันนี้ธุรกิจการเงินมีเทคโนโลยีหลายตัวมาก ไม่ว่าจะเป็น  peer to peer lending, e-wallet cryptocurrency และ blockchain เป็นต้น 

3. หุ้นแบงก์กำลังหมดเสน่ห์

BankStock P02 01

ขั้นตอนสำคัญการในตัดสินใจซื้อหุ้นสักตัว คือ การประเมินมูลค่าหุ้นนั้นๆ เพื่อหามูลค่า “ที่เหมาะสม” โดยทั่วไปแล้วกลุ่มธนาคารเรามักใช้ P/BV ในการพิจาณา

เนื่องจาก P/BV เป็นตัวชี้วัด Cyclical stock ประเภทหนึ่งที่บอกถึงความสามารถทำกำไรในภาวะเศรษฐกิจขณะนั้นได้ นอกจากนี้ เรายังใช้ P/BV ดูว่าคนหมู่มากให้ความสนใจหรือมองว่าหุ้นตัวนั้นแพงเกินไปหรือเปล่า 

เช่น หาก P/BV สูง อาจหมายความว่าหุ้นมีราคาแพงกว่ามูลค่าบัญชี เนื่องจากเป็นที่สนใจของนักลงทุนจากแนวโน้มการเติบโตในอนาคต กลับกันหาก P/BV ต่ำก็อาจแปลได้ว่าหุ้นกลุ่มนี้หมดเสน่ห์ในสายตาคนหมู่มากก็ได้ จากทิศทางที่ไม่ค่อยสดใส

สำรวจมูลค่าบริษัทเทียบกับมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2562 ของกลุ่มธนาคาร

BankStock P04 01

CIMBT 0.54 เท่า

LHFG 0.65 เท่า

KTB 0.71 เท่า

BBL 0.74 เท่า

KBANK 0.82 เท่า

BAY 0.87 เท่า

TCAP 0.88 เท่า

SCB 0.95 เท่า

TMB 1.03 เท่า

KKP 1.30 เท่า

มองตามข้อเท็จจริงจะเห็นว่าตอนนี้แทบทุกธนาคาร (ยกเว้น KKP, TMB) ล้วนมีราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี รวมถึงยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดซึ่งอยู่ที่ 1.80 เท่า

จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาคงตอบคำถามได้ระดับหนึ่งแล้วล่ะว่าทำไมตอนนี้หุ้นกลุ่มธนาคารไทยถึงไม่สดใส จนทำผลตอบแทนติดลบเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปี

Avatar photo