The Bangkok Insight

มาแล้ว ! ‘สมาร์ทกริด’ รับพลังงานแห่งอนาคต คาดใช้เงินลงทุน 2 แสนล้าน

“สมาร์ทกริด” มาแล้ว !!  รองรับพลังงานในอนาคต คาด 22 ปี 3 การไฟฟ้า ต้องลงทุนกว่า 2 แสนล้าน ด้านสนพ.เร่งกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจประชาชน-ภาคอุตสาหกรรม หวั่นตกยุค

เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า การใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้า และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ผู้ใช้ไฟฟ้าหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น และกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ “สมาร์ทกริด (Smart Grid)” หรือ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ จึงจำเป็นต้องเข้ามารองรับ

อาเซียน กริด 3 1

โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ได้มีการว่าจ้างสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเมื่อปี 2557  นำมาสู่การวางแผน “แม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579” ครอบคลุม 22 ปี ซึ่ง ณ ตอนนั้นคาดว่า ทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ต้องใช้เงินไปกับการปรับปรุงระบบทั้งสิ้น 199,000 ล้านบาท

ปัจจุบันกระทรวงพลังงาน ได้แบ่งการพัฒนาระบบสมาร์ทกริด ออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการ (ปี 2558 – 2559) ระยะสั้น (ปี 2560 – 2564) ระยะปานกลาง (ปี 2565 – 2574) และระยะยาว (ปี 2575 – 2579) เพื่อเป็นกลไกสำคัญ ที่จะพัฒนาไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มั่นคง และเพียงพอ

สำหรับแผนระยะสั้นที่กำลังดำเนินการอยู่ จนถึงปี 2564  ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการวางโครงสร้างไปสู่สมาร์ทกริดที่สมบูรณ์ จะทำผ่าน 3 เสาหลัก ประกอบด้วย

เสาหลักที่ 1 ระบบบริหารจัดการพลังงาน เพื่อตอบสนองการผลิต และใช้ ให้สามารถทำได้ในระยะเวลากระชั้นและรวดเร็วมากขึ้น เป้าหมายสำค้ญของเสานี้ก็คือ ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจรวบรวมโหลด และมีการรับซื้อไฟฟ้าที่ลดลงได้ในช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ที่เรียกว่า Negawatt ปริมาณ 350 เมกะวัตต์ เพื่อลดการสร้างโรงไฟฟ้าที่จะมาจ่ายเฉพาะช่วงพีคลง

เสาหลักที่ 2 ระบบพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเชื่อมโยงกับระบบโครงข่ายมากขึ้น ส่งผลให้การควบคุม และรักษาสมดุลระหว่างการผลิตและความต้องการไฟฟ้าเป็นไปอย่างลำบากมากขึ้น

ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท รองรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก

งานนำเสนอ2เสาหลักที่ 3 ระบบไมโครกริด และระบบกักเก็บพลังงาน เป็นพื้นที่ ที่มีแหล่งผลิตไฟฟ้าเป็นของตนเอง และเชื่อมโยงระบบหลัก เพื่อเสริมความมั่นคง อาทิ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย กลุ่มอุตสาหกรรม ฐานทัพ เป็นต้น เมื่อเกิดเหตุกับระบบหลัก เช่น ฟ้าผ่าสายส่ง หรือต้นไม้ล้มพาดเสาไฟฟ้า จะไม่ได้รับผลกระทบ สามารถบริหารจัดการจ่ายไฟฟ้าภายในระบบไมโครกริดได้อย่างต่อเนื่อง

โดยมีโครงการนำร่องให้เกิดขึ้น 3-5 โครงการภายในปี 2564 สำหรับพื้นที่ที่มีศักยภาพในการใช้งานระบบไมโครกริด เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) และพื้นที่ห่างไกล

Board Exhibition2

สำหรับผลของสมาร์ทกริดในเสาที่ 1 นั้น เบื้องต้น คาดว่าจะทำให้เกิดผลประหยัดไปได้ 8,750 ล้านบาทในระยะเวลา 20 ปี เพราะสามารถหลีกเลี่ยงการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทจ่ายไฟเฉพาะช่วงพีคได้ 350 เมกะวัตต์ เท่ากับลดการลงทุนไปได้ 17,500 ล้านบาท แต่จะต้องหักด้วยค่าใช้จ่ายในการวางระบบรองรับสมาร์ทกริด เพื่อตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) วงเงิน 8,750 ล้านบาท

S 84697099

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนระบบสมาร์ทกริด กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งสร้างความเข้าใจ ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชน ได้ทราบถึงเทคโนโลยีสมาร์ทกริด ที่เข้ามามีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาในภาพรวมของอุตสาหกรรมไฟฟ้า

และปัจจุบันได้ ถูกบรรจุเข้าไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (พีดีพี 2018) เป้าหมายให้ระบบไฟฟ้าปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรน้อยลง (Doing More with Less) มีแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย ปี 2558 – 2579 รองรับ

ทั้งนี้เพื่อเป็นนโยบายและกรอบทิศทางการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศในภาพรวม ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ 3 การไฟฟ้า และภาคเอกชน กำหนดทิศทางแผนการพัฒนาและการลงทุน ที่สอดคล้องกัน ขณะนี้กำลังเริ่มทำโครงการนำร่อง ทดสอบโมเดลต่างๆ ทั้งที่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นต้น 

Avatar photo