Business

เอสซีจี เร่งเครื่องธุรกิจแพคเกจจิ้ง นำ ‘SCGP ‘ ทำไอพีโอ-เข้าตลาด

เอสซีจี ประกาศแผนติดปีกธุรกิจแพคเกจจิ้ง อนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ “เอสซีจี แพจเกจจิ้ง จำกัด” ( SCGP)  ไม่เกิน 30% ของทุนชำระแล้ว พร้อมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด เพื่อระดมทุนมาใช้ขยายธุรกิจแพคเกจจิ้ง หวังรุกตลาดทั้งในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีอนาคตสดใส และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มอย่างครบวงจร ดันธุรกิจแพคเกจจิ้งให้เติบโต

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า บริษัทเล็งเห็นว่าธุรกิจแพคเกจจิ้งมีศักยภาพที่โดดเด่น และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีอัตราการบริโภคและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าที่ซื้อขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะในไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างมาก และต่อเนื่องในอนาคต โดยในปี 2561 ตลาดแพคเกจจิ้งในอาเซียนมีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์

4 1 นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ของธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี

ดังนั้น เพื่อให้เอสซีจีสามารถเร่งสร้างโอกาส และเพิ่มศักยภาพการเติบโตของธุรกิจแพคเกจจิ้งในภูมิภาค ทั้งในด้านฐานการผลิตและการตลาดให้ตอบสนองกับความต้องการในตลาดได้ดีมากยิ่งขึ้น จึงได้อนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ SCGP ไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเพิ่มทุนและนำ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาด เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตในอนาคต และเพื่อให้ SCGP สามารถระดมทุน มาใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจแพคเกจจิ้งของเอสซีจีทั้งใน และต่างประเทศ ให้เติบโตรวมทั้งเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความพร้อมในการรองรับการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต

4 2 นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ของธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี 1

อีกทั้ง SCGP ยังจะสามารถระดมทุนจากตลาด หรือหาเงินทุนในรูปแบบอื่น ๆ ผ่านช่องทางของตลาดทุนได้ด้วยตัวเอง และสามารถปรับโครงสร้างการบริหารธุรกิจในอนาคตให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้การบริหารจัดการ การพัฒนา และการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตของ SCGP มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยที่เอสซีจีจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และมีอำนาจควบคุม SCGP ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% และ SCGP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของเอสซีจีเช่นเดิม

การดำเนินการดังกล่าว นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เอสซีจีได้รับประโยชน์กลับมาจากผลการดำเนินงานของ SCGP ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าการเติบโตในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นด้วย

Avatar photo