Economics

ทำความเข้าใจ ‘จีเอสพี’

ในเวลานี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะเจอแต่การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง “ไทยถูกตัดสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพี” และเรื่องนี้เองก็อาจทำให้บุคคลที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการค้า และเศรษฐกิจ เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า “จีเอสพี” คืออะไร แล้วแค่โดนตัดสิทธิทำไมต้องเป็นเรื่องใหญ่ ไทยได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐประเทศเดียวหรือเปล่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกหรือเปล่า ไทยเคยโดนตัดสิทธิมาแล้วบ้างไหม ฯลฯ

The Bangkok Insight จะมาช่วยคลายความสงสัยในเรื่องนี้กัน

GSP 02 01

จีเอสพี (GSP) ย่อมาจาก Generalized System Preference หรือ ระบบสิทธิพิเศษทางพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป เป็นสิทธิทางภาษีที่ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ ให้กับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งช่ีวยให้ไม่ต้องเสียภาษีสินค้านำเข้าบางรายการเมื่อส่งสินค้าไปขายในประเทศผู้ให้สิทธิ อันจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาที่ได้สิทธินั้น สามารถส่งออกสินค้าไปแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ กับสินค้าประเทศพัฒนาแล้ว หรือแข่งกับประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าให้ได้ราคาถูกกว่า

GSP 03 01

การให้สิทธิจีเอสพีนี้ เป็นการให้แบบฝ่ายเดียว คือ ประเทศที่ให้สิทธิจะไม่เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากประเทศผู้รับ แต่ก็ยังเป็นการให้แบบมีเงื่อนไขอยู่ คือ ประเทศที่ได้รับสิทธิต้องเข้าหลักเกณฑ์ที่ประเทศผู้ให้วางไว้

ตัวอย่างเช่น สหรัฐ กำหนดให้ประเทศที่จะได้รับจีเอสพี ต้องมีรายได้ต่อหัวประชากรไม่เกิน 12,735 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี เป็นประเทศที่ไม่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่ดีพอสมควร คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล มีความพยายามในการขจัดการใช้แรงงานเด็ก และมีเงื่อนไขอื่นๆ ในด้านการค้าและการปฏิบัติต่อสหรัฐอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่น

GSP 04 01

สหรัฐให้สิทธิจีเอสพีแก่ประเทศต่าง ๆ ประมาณ 125 ประเทศ ครอบคลุมสินค้าประมาณ 3,500 รายการ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป แต่ประเทศกำลังพัฒนาในระดับน้อยที่สุด (Least Developed Country : ซึ่งมีรายได้โดยเฉลี่ยต่อหัวน้อยกว่า 1,305 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี) สหรัฐจะเพิ่มรายการที่ได้รับสิทธิจีเอสพีนี้อีกประมาณ 1,500 รายการ โดยสหรัฐเริ่มให้สิทธิทางภาษีแก่ประเทศต่าง ๆ โดยออกเป็นกฎหมายตั้งแต่ปี 2517 แต่ไม่ได้เป็นการถาวร โดยเมื่อกฎหมายหมดอายุลง ก็มีการต่ออายุออกไปเป็นระยะๆ จนถึงปัจจุบัน

การให้สิทธิจีเอสพี นอกจากจะเป็นการช่วยประเทศต่างๆ ในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่สหรัฐใช้ในการชักจูง และกดดันประเทศต่างๆ ให้ปรับปรุงกฎระเบียบและพัฒนาแนวทางปฏิบัติทางการค้าและทางสังคมที่เกี่ยวข้องในระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การควบคุมการใช้แรงงานเด็ก รวมถึงลดการกีดกันทางการค้าให้น้อยลงด้วย

GSP 01 01

สหรัฐกำหนดคุณสมบัติของประเทศที่จะได้รับสิทธิจีเอสพีไว้ 6 ข้อด้วยกัน

  1. ระดับการพัฒนาประเทศ : โดยพิจารณาจากรายได้ต่อหัวประชากรของธนาคารโลก
  2. การเปิดตลาดสินค้าและบริการ : ต้องมีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุผล
  3. การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา : ประเทศผู้รับสิทธิจะต้องมีระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ
  4. การคุ้มครองสิทธิแรงงาน : จะต้องมีการคุ้มครองสิทธิแรงงานในระดับที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
  5. กำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจน และลดข้อจำกัดทางการค้าของประเทศที่ได้รับสิทธิ
  6. ให้การสนับสนุนสหรัฐ ในการต่อต้านการก่อการร้าย

GSP 05 01

สินค้าที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายจะได้รับจีเอสพีนั้น ต้องเป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีสินค้าที่ได้รับสิทธิจีเอสพี ต้องเป็นสินค้าที่นำเข้าโดยตรงจากประเทศประเทศผู้รับสิทธิ ดำเนินการผลิตถูกต้องตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) และผู้นำเข้าสินค้าจะต้องยื่นขอใช้สิทธิปลอดภาษีภายใต้จีเอสพี

GSP 06 01

สินค้าจากประเทศผู้รับสิทธิจีเอสพีจะถูกยกเลิกการให้สิทธิฯ เป็นการชั่วคราวเมื่อการนำเข้าสหรัฐสูงเกินเพดานที่กำหนด ภายใต้กฎว่าด้วยความจำเป็นด้านการแข่งขัน กล่าวคือ สินค้าจะถูกระงับสิทธิจีเอสพี หากพบว่า มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐในปีที่ผ่านมาสูงเกินเพดานที่กำหนดไว้ ซึ่งในปี 2561 กำหนดไว้ที่ 24 ล้านดอลลาร์ เพราะถือว่า เป็นสินค้าที่มีความสามารถในการแข่งขันที่สูง จึงไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิยกเว้นภาษีต่อไป และจะถูกตัดสิทธิในวันที่ 1 พฤศจิกายนของปีถัดไป

ในอดีตสหรัฐมีการยกเลิกการให้สิทธิจีเอสพีแก่ประเทศต่างๆ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้

กรณีไม่คุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่น

  • บังกลาเทศ ปี 2556
  • เบลารุส ปี 2543

กรณีไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เช่น

  • ฮอนดูรัส ปี 2541
  • ยูเครน   ปี 2544

เมื่อประเทศที่ถูกยกเลิกจีเอสพี ปรับปรุงและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะได้สิทธิจีเอสพีกลับคืนมา แต่มีบางประเทศที่ถูกยกเลิกสิทธิจีเอสพี เป็นการถาวรเมื่อมีระดับการพัฒนาประเทศที่สูงมาก จนไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิจีเอสพีแล้ว

ประเทศที่ถูกยกเลิกจีเอสพีถาวร

  • ปี 2532 : เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง
  • ปี 2541 : มาเลเซีย
  • ปี 2556 : รัสเซีย

ข้อมูล : กรมการค้าต่างประเทศ 

Avatar photo