Opinions

โกลาหล ‘แบน 3 สารเคมีอันตราย’ และ ‘ตัดสิทธิ GSP’

Avatar photo
1713

ผมได้ติดตามข่าวที่ทางสหรัฐได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลไทย ขอให้ทบทวนการแบนพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในภาคการเกษตร และแถลงท่าทีเกี่ยวกับการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีที่ให้กับประเทศไทย โดยอ้างอิงถึงเรื่องการยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งต้องถือว่าเป็นประเด็นที่อ่อนมาก

เรื่องนี้ควรต้องมีการดำเนินการอย่างรอบคอบเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกติการะหว่างประเทศ ภายใต้องค์การการค้าโลก และความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ

ผมมีข้อสังเกตดังนี้ครับ

1.ต้องยอมรับว่า ช่วงเวลาที่ทางสหรัฐแถลงท่าทีทั้ง 2 เรื่องในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ทำให้ทุกคนเข้าใจได้ว่ามาจากสาเหตุเดียวกัน คือการแบน 3 สารเคมีอันตรายดังกล่าวในภาคเกษตร

แม้ผมเองจะทราบว่า สิทธิพิเศษทางภาษีหรือ GSP นั้น มีการทบทวนทุกปีก็ตาม และในปี 2559 ได้มีการปรับระดับดีขึ้นของไทยจาก TIER 3 เป็น TIER 2 แต่ในครั้งนี้ ไม่มีความชัดเจนถึงเหตุผล และรายละเอียดของปัญหาในเรื่องสิทธิแรงงานในไทย

ดังนั้น ทางสหรัฐควรเป็นผู้ชี้แจงเองว่าอะไรเป็นอะไร ส่วนทางไทยไม่จำเป็นต้องอธิบายแทนเขา แต่ควรแก้ปัญหาโดยอ้างอิงถึงภาระผูกพันและสิทธิของไทยในการดำเนินการในแต่ละเรื่อง ตามกติกาสากลและข้อตกลงทวิภาคีกับสหรัฐ

2. การดูแลความเป็นอยู่ของเกษตรกร และการนำเข้าสินค้าที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคในประเทศ ก็เป็นสิทธิโดยชอบของทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่เป็น 2 เรื่องที่ต้องแยกแยะเหตุผลของการดำเนินการ เพราะเงื่อนไข และข้อกำหนดของแต่ละเรื่องมีความแตกต่างกัน

การนำเข้าสินค้าประเภทอาหารหรือวัตถุดิบการเกษตรเพื่อใช้ผลิตอาหารนั้น ก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร หรือ CODEX ภายใต้ข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก

ถ้าสินค้าเกษตรหรืออาหารที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐ มีสารตกค้างไม่เกินข้อกำหนดของ CODEX ไม่ว่ากระบวนการผลิตภายในประเทศสหรัฐเป็นอย่างไรก็ตาม สหรัฐก็ไม่ควรมีข้อกังวลใดๆ ที่ไปเชื่อมโยงกับการแบนสารเคมีในไทย

ในทางกลับกัน ถึงแม้ไทยไม่แบน 3 สารเคมีอันตราย แต่ถ้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นำเข้าจากสหรัฐมีสารปนเปื้อนตกค้างเกินมาตรฐานสากล ก็เป็นสิทธิโดยชอบของแต่ละประเทศที่จะไม่ยอมรับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้น

3. ไทยเองก็ต้องตรวจสอบตัวเลขผลกระทบทางการค้าที่อ้างอิงกันไปกันมาในการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีให้ชัดเจน เพราะที่ทางการสหรัฐแถลงน่าจะแตกต่างกับตัวเลขอย่างเป็นทางการของไทยอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ก็ต้องยอมรับว่า GSP เป็นการให้เป็นพิเศษโดยสหรัฐฝ่ายเดียว ซึ่งตามกติกาต้องไม่ผูกพันไปเรื่องอื่นๆ แต่ที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดว่า ในความเป็นจริงมันเกี่ยวโยงไปเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิมนุษยชน และอีกหลาย ๆ เรื่องที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐ

ในหลายกรณีมีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น หลายประเทศผู้รับสิทธิพิเศษนี้ก็เคยหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาหารือกันในเวทีนานาชาติ ไทยเองก็ต้องต่อสู้เรียกร้องความถูกต้องมิให้สหรัฐใช้ GSP เป็นเงื่อนไขต่อรองผลประโยชน์ในเรื่องที่ขัดต่อกติกาสากล และเจตนารมณ์ของการให้ GSP

4.  รัฐบาลควรมีคำตอบที่ดีพอต่อเกษตรกรว่าเมื่อแบน 3 สารเคมีนี้แล้ว ทางออกของเกษตรกรที่ไม่เป็นภาระจนเกินไปคืออะไร? เรื่องนี้คงต้องไปดูการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตของภาคการเกษตรทั้งหมด ซึ่งมีหลายเรื่องที่น่าจะทำได้ รวมทั้งการทบทวนภาษีนำเข้าซึ่งสำหรับภาคเกษตรแล้วควรปรับลดเป็นศูนย์ทั้งหมด

ในเรื่องนี้ต้องบริหารจัดการในลักษณะเชิงรุกมากกว่าเชิงตั้งรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การร่อนหนังสือไปทั่วของนาย Ted A. Mckinney โดยไม่ดูตำแหน่งแห่งหนของผู้ส่งและผู้รับ ต้องถือว่าผิดมารยาททางการทูตอย่างร้ายแรง และประวัติความเป็นมาของผู้เขียนที่อาจมองได้ว่าเป็นเหตุจูงใจให้เขียนจดหมายมาถึงนายกไทยก็ควรได้รับการเปิดเผย

นอกจากนั้น ผลประโยชน์ของสหรัฐในประเทศไทยมีมากมายมหาศาลกว่าเรื่องการส่งออกสินค้าเกษตรของสหรัฐ และ GSP ที่สำคัญคือไทยจะหยิบยกเรื่องอะไรมาเจรจาต่อรองทำความเข้าใจกัน

บางเรื่องถ้าเราสามารถชี้ให้เห็นว่าเรารู้ทันในการเดินเกมส์ของเขา เขาก็ถอย อย่างไรก็ตามเราต้องเดินหน้าเจรจากับสหรัฐอย่างมีศักดิ์ศรี หากประเทศใดมีการบิดเบือนข้อตกลง หรือกติการะหว่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง

นั่นแหละครับ คือจุดอ่อนของเขาที่เราเองต้องจี้ให้ถูกจุด..!! และหากสหรัฐยังไม่รู้จักลดราวาศอกในเรื่องนี้ ก็เท่ากับว่าสหรัฐกำลังผลักให้มิตรประเทศไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นนั่นเอง..!

น่าทบทวนนะ..!!

เรื่อง : เกียรติ สิทธีอมร
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์