Economics

กฟผ.เคาะผู้ชนะประมูล นำเข้าแอลเอ็นจี 13 พฤศจิกายนนี้

กฟผ.เตรียมประกาศผลผู้ชนะประมูลนำเข้าแอลเอ็นจีรวม 130,000 ตัน วันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ พร้อมนำเข้าล็อตแรกหลังเดือนธันวาคม

IMG 20191025 131514 0 ตัดนายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) แบบตลาดจร (สปอต) ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ( กบง.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า กรณีกบง. ให้กฟผ.นำเข้า 2 ล็อต ล็อตละ 65,000 ตัน รวม 130,000 ตัน เดือนธันวาคม 2562 และเมษายน 2563 นั้น ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ดำเนินการตามขั้นตอนมาตามลำดับ

โดยออกเอกสารประกาศเชิญชวนนำเข้าแอลเอ็นจี และปิดรับไปเมื่อ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา จากนั้นได้มีการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนผู้ค้า หรือผู้ผลิตแอลเอ็นจีที่ผ่านคุณสมบัติจำนวน 40 ราย ในจำนวนนี้มีบริษัทในกลุ่มปตท. และบริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี จำกัด เข้าร่วมประมูลด้วย

สำหรับกำหนดเวลา (ไทม์ไลน์) จากนี้ จะสามารถประกาศเงื่อนไขการประมูล(ทีโออาร์)นำเข้าแอลเอ็นจีในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน จะเปิดให้ยื่นข้อเสนอด้านราคา และในวันที่ 13 พฤศจิกายน จะสามารถประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลนำเข้าแอลเอ็นจี และ 2-3 วันจากนั้น จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีได้

แอลเอ็นจี 1

สำหรับเงื่อนไขการประมูลนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าแบบไหนจะเกิดประโยชน์สูงสุด หลักการสำคัญ คือ จะให้เสนอพร้อมกันทั้งสองล็อต และแยกเสนอราคาแต่ละล็อต โดยกฟผ.จะพิจารณาแต่ละล็อต ล็อตไหนให้ราคาดีสุดเลือกรายนั้น อาจเป็นรายเดียว หรือ 2 รายก็ได้

ทั้งนี้กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ ต้องนำเข้าล็อตแรก 65,000 ตัน คาดว่าจะนำเข้าได้ครึ่งหลังของเดือนธันวาคม และล็อต 2 ในเดือนเมษายน 2563 เป็นการนำเข้าเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพระนครใต้ หน่วยที่ 1 จังหวัดสมุทรปราการ โรงไฟฟ้าวังน้อย หน่วยที่ 4 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโรงไฟฟ้าบางปะกง หน่วยที่ 5 จังหวัดฉะเชิงเทรา

และภายหลังจาก กฟผ.ทดสอบนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตแรก ต้องรายงานไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อประเมินความพร้อมในการนำเข้าระยะยาว ( long term)ต่อไป

สำหรับราคาแอลเอ็นจีในปัจจุบัน ซึ่งถือว่ากำลังเข้าสู่ช่วงที่ราคาสูงสุด อยู่ที่ 6.2 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และคาดว่าในช่วงเดือนเมษายน 2563 จะถูกลง เหลือประมาณ 5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เนื่องจากปัจจุบันตลาด ยังคงเป็นของผู้ซื้อ เพราะมีแอลเอ็นจีจากหลายแหล่งผลิตออกมาป้อนตลาด ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของโลกชะลอตัว ทำให้การปริมาณการใช้ลดต่ำลง

ในส่วนของปัญหาสัญญาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หรือ Take or Pay ระหว่าง กฟผ.กับ ปตท. นั้น นายธวัชชัย ระบุว่า เชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้นภายหลังจาก กฟผ.นำเข้าแอลเอ็นจีในครั้งนี้ เนื่องจากสามารถบริหารจัดการได้

ทางด้านความคืบหน้าการเจรจากับทางปิโตรนาส ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลในรอบที่ผ่านมาตามสัญญานำเข้าระยะ 8 ปี ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันนั้น ยังไม่ได้ยกเลิกการประมูลดังกล่าว แต่กำลังเจรจาเงื่อนไข เพื่อปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับนโยบาย และสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.มีการเจรจากับทางปิโตรนาสแล้ว 1-2 ครั้ง โดยได้มีการรายงานให้กระทรวงพลังงานรับทราบเป็นระยะๆ

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการ กฟผ.ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานประธานคณะกรรมการฯ จะพิจารณาเนื่องการจัดตั้งบริษัทใหม่ เพื่อรองรับธุรกิจเทรดดิ้งไฟฟ้าต่างประเทศ ซึ่งในระยะแรกคงเน้นเรื่องเทรดดิ้งไฟฟ้า ส่วนด้านเชื้อเพลิงนั้น ต้องดูเงื่อนไข พ.ร.บ.กฟผ.ต่อไป

Avatar photo