World News

กระแสมาแรง! ธุรกิจนอกอุตฯ รถยนต์ แห่รุกเข้าตลาด ‘ขับเคลื่อนอัตโนมัติ-รถไฟฟ้า’

บริษัทเทคโนโลนี และธุรกิจอื่นๆ นอกอุตสาหกรรมรถยนต์ กำลังรุกขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นตลาดที่นวัตกรรมกำลังกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญ ท่ามกลางความต้องการรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

1 19

สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า ในงานแสดงรถยนต์ประจำปีรายการใหญ่ของญี่ปุ่น “โตเกียว มอเตอร์ โชว์” ครั้งล่าสุด ที่จะมีขึ้นไปจนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ บริษัทอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก รวมถึง ฮิตาชิ มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คอร์ป และพานาโซนิค คอร์ป ต่างนำผลิตภัณฑ์ และบริการของบริษัทมาจัดแสดงด้วย

การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ กำลังพยายามที่จะนำความได้เปรียบของในด้านประสบการณ์ และความรู้ของตัวเองเข้ามาผลิตมอเตอร์ อินเวอร์เตอร์ และเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ขาดไม่ได้ในกาารผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และรถยนต์ไฟฟ้า

ฮิตาชิ ออโตโมทีฟ ซิสเต็มส์ หน่วยงานด้านธุรกิจรถยนต์ในเครือฮิตาชิ กรุ๊ป ดำเนินการผลิตมอเตอร์ และอินเวอร์เตอร์ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึง กล่องควบคุมระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อระบบช่วยขับขี่แบบก้าวหน้า

บริษัทรายนี้ ระบุว่า ตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดขายรายปี ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์รถยนต์ให้ขึ้นมาอยู่ราว 1.2-1.7 ล้านล้านเยน ภายในปีงบการเงิน 2564 จากที่เคยทำได้ราว 971,000 ล้านเยนเมื่อปีงบการเงิน 2561 ภายใต้การร่วมทุนกับฮอนด้า มอเตอร์ โค ที่จะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ มอเตอร์สำหรับรถไฟฟ้าในจีนตั้งแต่ปีหน้า

ฮิตาชิยังจะหนุนการวิจัย และพัฒนาในด้านเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นอีก 1 เสาหลักของธุรกิจบริษัท

“นอกเหนือจากการผลิตสินค้าดีๆ แล้ว เรายังสามารถใช้ทรัพยากรของฮิตาชิ กรุ๊ป อาทิ เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานท และความปลอดภัย ที่มีคุณภาพสูง” คิมิยะ ยามาอาชิ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี ฮิตาชิ ออโตโมทีฟ ซิสเต็มส์ กล่าว

images 7 1

ขณะที่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อย่าง มิตซูบิชิ อิเล็กทริค ก็ได้นำรถยนต์ต้นแบบ “เอมิราอิ เอส” มาจัดแสดงภายในงานมอเตอร์ โชว์ครั้งนี้ด้วย เพื่อนำเสนอระบบติดตามคนขับ ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ที่มีสาเหตุมาจากคนขับรถมีอาการเจ็บป่วยกระทันหัน

เซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อน และกล้องอินฟาเรด ที่ติดตั้งอยู่ใกล้กับล้อ จะทำหน้าที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงในทิศทางของสายตาคนขับ อุณหภูมิร่างกาย และอัตราการเต้นของหัวใจ และเมื่อตรวจพบความผิดปกติจะส่งสัญญาณเตือนออกมา ก่อนที่รถจะหยุดเองโดยอัตโนมัติ หากคนขับไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสัญญาณเตือนดังกล่าว

“เราอยากจะที่ส่งเสริมการขับขี่อย่างปลอดภัย ด้วยการนำเทคโนโลยีชั้นนำของเราในด้านปัญญาประดิษฐ์ เซ็นเซอร์ และโครงสร้างพื้นฐานเข้ามาใช้” ฮิโรชิ โอนิชิ ผู้บริหาร มิตซูบิชิ อิเล็กทริค รับผิดชอบด้านอุปกรณ์รถยนต์ กล่าว

มิตซูบิชิ อิเล็กทริค ยังตั้งเป้าที่จะวางจำหน่ายระบบติดตามการเคลื่อนไหวของคนขับภายในปี 2565 ด้วย

2 12

ทางด้านพานาโซนิค เข้าร่วมในงานนี้ ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีจอดรถแบบไร้คนขับ ที่ติดตั้งมากับ “แอลคิว” รถยนต์ต้นแบบของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ทั้งยังเป็นผู้จัดหาจอภาพที่ใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือน (เออาร์) สำหรับแสดงเส้นทางตามคำแนะนำ และข้อมูลการจราจร ให้กับผู้ขับขี่ ผ่านทางกระจกหน้ารถยนต์

ฮิโตชิ คาอิเสะ จากโรแลนด์ เบอร์เกอร์ บริษัทที่ปรึกษา ชี้ว่า บรรดาผู้ผลิตอิเล็กทรอนิคส์ กำลังกลายมาเป็นพันธมิตรที่เท่าเทียมกันกับบริษัทรถยนต์ ในด้านเทคโนโลยี และบริการยานยนต์รุ่นต่อใหม่ สถานการณ์ที่จะทำให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในการจับมือกับซัพพลายเออร์ เพื่อจัดหาคุณค่าใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค

Avatar photo