COLUMNISTS

เรือล่มที่ภูเก็ตกับการลงทุนท่องเที่ยวปลอดภัย

Avatar photo
1286

โศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตนักท่องเที่ยวไปกว่า 40 ชีวิต สูญหายอีก 15 ราย จากเหตุการณ์เรือฟีนิกซ์ล่มที่จังหวัดภูเก็ต มีประเด็นที่ต้องถอดบทเรียนสองเรื่องคือ สาเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรม และมาตรการป้องกันที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ เพราะการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยที่กำลังซบเซาอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นผู้สูญเสียมากที่สุดจากเหตุการณ์นี้ ถือเป็นชาติที่เที่ยวเมืองไทยเป็นอันดับหนึ่ง

จากสถิติที่รวบรวมโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2560 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 35,381,210 คน เดินทางมายังประเทศไทย ก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1,824,024 ล้านบาท

ชาติที่มาไทยเป็นอันดับหนึ่งคือ นักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวน 9,805,753 คน และยังเป็นชาติที่สร้างรายได้สูงสุดให้กับไทยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอันดับหนึ่งอีกด้วย

S 26427456

ดังนั้นเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตต้องบริหารจัดการให้ดี ไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซากจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อดึงความเชื่อมั่นต่อระบบความปลอดภัยของประเทศกลับมา

เรามาไล่เรียงดูถึงสาเหตุและมาตรการป้องกันภัยกันว่ามีอะไรให้เรียนรู้เพื่อนำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสูญเสีย หรือถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันจะสามารถควบคุมความสูญเสียให้เกิดน้อยที่สุดกันอย่างไร

เริ่มจากสาเหตุกันก่อน กรณีนี้ต้องเรียกได้ว่าเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ โดยมีสองปัจจัยหลักคือ ความโลภ กับความประมาท

กรณีที่เกิดขึ้นทางกองอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ มีการเผยแพร่คำเตือนไว้ในหน้าแรกของเว็บไซต์กองอุตุนิยมวิทยา rtnmet.org เมื่อวันที่ 4 ก.ค. เนื้อความดังนี้

“คำเตือน เรื่อง สภาวะคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ฉบับที่ 1 จากแผนที่อากาศผิดพื้นภาพถ่ายดาวเทียมและแบบจำลองเชิงตัวเลขเวลา 10.30 น.ของวันพุธที่ 5 ก.ค.นั้น มรสุมตะวันตกเฉียงใตที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดย เฉพาะภาคใต้ ฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทยฝั่งตะวันออก คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ในช่วงบ่ายของวันที่ 5 ก.ค.และจะมีกำลังแรงต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 11 ก.ค.”

แน่นอนว่าผู้ประกอบการต้องเป็นด่านแรกในการระแวดระวังเรื่องความปลอดภัย คอยตรวจสอบสภาพอากาศจากประกาศคำเตือนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อมีคำเตือนลักษณะนี้แต่ยังฝืนที่จะออกเรือเพียงเพราะต้องการรายได้โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย จนเกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้น ย่อมเป็นความรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญา ต้องมีการดำเนินการให้ถึงที่สุด เพื่อเป็นตัวอย่างกระตุกสำนึกความรับผิดชอบของผู้ประกอบการได้เข็ดหลาบ

S 26427457

สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้คือ ปรับปรุงการส่งผ่านข้อมูลในเชิงรุก ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบถึงสภาพอากาศ ความเสี่ยงของการท่องเที่ยวทางทะเลในช่วงหน้ามรสุมด้วย เช่น มีการเชื่อมข้อมูลกับผู้ให้บริการทั้งทางรถทัวร์และเครื่องบินโดยสาร ที่มีปลายทางเป็นจังหวัดทางทะเลให้แจ้งผู้โดยสารรับทราบถึงข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพราะหากนักท่องเที่ยวรับทราบถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากภัยทางท้องทะเลย่อมหลีกเลี่ยงไม่เอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยง

เมื่อนักท่องเที่ยวไม่อยากออกทะเล การละเมิดคำเตือนโดยผู้ประกอบการแม้อยากทำก็ทำไม่ได้ แนวทางนี้จึงควรดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของวงจรธุรกิจการท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงการเดินทางไปจนถึงปลายทางที่หมาย คือ โรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์ ต่างๆ ต้องมีพื้นที่กลางให้ข้อมูลถึงสภาพอากาศ ความเสี่ยง

ขณะที่บริเวณท่าเรือต้องมีการปิดประกาศเตือน-ห้ามที่ชัดเจน เพื่อให้นักท่องเที่ยวรับทราบด้วย

ที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ ต้องยกระดับจากคำเตือนมาเป็นการห้ามที่มีโทษตามกฎหมายหรือไม่ เช่น ในห้วงเวลาที่เตือนว่าจะเกิดมรสุมห้ามนำเรือออกจากฝั่ง ฝ่าฝืนมีโทษ ไม่ใช่เหมือนที่ทำกันมาตลอดคือมีแต่ตัวอักษรคำเตือนที่ไร้ผลในทางปฏิบัติ ซึ่งต้องมาปรับปรุงกฎหมาย และควรมีเรือตรวจการณ์ชายฝั่งคอยดูแลไม่ให้มีการละเมิดคำเตือน หากพบว่ามีการฝ่าฝืนก็สามารถแจ้งให้หันหัวเรือกลับเข้าฝั่งได้

จากข่าวที่ออกมามีการพูดถึงเรือไม่ได้มาตรฐาน เชื่อมโยงไปถึงทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งในความเป็นจริงไม่อยากให้เบี่ยงเบนประเด็นออกไป เพราะไม่ว่าจะเป็นทัวร์ศูนย์เหรียญ มีผู้ประกอบการต่างชาติใช้นอมินีไทยหรือคนไทยเป็นผู้ประกอบการ หากทำผิดกฎหมายก็ต้องถูกลงโทษ และหากมีเรือไม่ได้มาตรฐานจริง ก็มีคำถามถึงภาครัฐเกี่ยวกับระบบตรวจสอบว่าปล่อยให้นำมาให้บริการนักท่องเที่ยวได้อย่างไร

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ พนักงานบนเรือได้รับการอบรมเผชิญเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้คำแนะนำและช่วยเหลือผู้โดยสารอย่างถูกวิธีหรือไม่

หากไม่เคยทำก็ต้องดำเนินการให้ลูกเรือมีทั้ง ความพร้อมและสำนึกรับผิดชอบต่อทุกชีวิตบนเรือด้วย ซึ่งจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เพราะหลายกรณีที่เกิดอุบัติเหตุเป็นเพราะความตื่นตระหนก วิ่งเฮโลไปอยู่ในจุดใดจุดหนึ่งจนน้ำหนักของเรือขาดความสมดุลเป็นเหตุให้เรือล่มเร็วขึ้น หากมีการจัดการที่ดีจะช่วยลดปัญหานี้ไปได้มาก

f phuket a 20180707 870x615

ภาครัฐที่กำลังตีปี๊บให้บ้านเมืองก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ควรลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยในธุรกิจท่องเที่ยวอย่างจริงจัง เช่น เรือทุกลำต้องมีการติดจีพีเอส เชื่อมโยงศูนย์เตือนภัยให้เห็นถึงตำแหน่งของเรือ และสื่อสารถึงกันได้ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันสามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

ตัวอย่างจากการนำเทคโนโลยีมาสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย คือมีโครงการหนึ่งที่ผุดขึ้นมาโดยเอกชนในจังหวัดภูเก็ตช่วงกลางปีที่แล้ว “ริสแบนด์ติดจีพีเอสพร้อมประกันชีวิต 1 ล้าน” เพื่อดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยผู้ชนะประมูลที่ได้สิทธิเป็นผู้บริหาร “ท่าเรืออ่าวปอ” คือ “ภูเก็ต พัชทรี ทัวร์” มีการริเริ่มโครงการสายรัดข้อมือดังกล่าว

ตามข่าวระบุว่ามีการลงทุนกว่า 20 ล้านบาท เริ่มบริการตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยระบบดังกล่าวเป็นลักษณะให้ลูกค้าซื้อริสแบนด์พร้อมประกัน ชีวิตในราคา 40 บาท

ริสแบนด์จะเชื่อมต่อกับระบบ wifi ร่วมกับ กสท หรือ CAT นักท่องเที่ยวที่สวมใส่ในรัศมีทั่วจังหวัดจะมีการบันทึกข้อมูลว่าผู้สวมใส่เดินทางไปยังสถานที่ใดบ้าง ซึ่งผู้ริเริ่มโครงการเสนอว่าควรทำตั้งแต่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกรณีสูญหายสามารถติดตามตัวได้ หรือในกรณีเกิดเหตุร้ายเช่นเรือล่มที่ภูเก็ต หากนักท่องเที่ยวมีริสแบนด์ดังกล่าวก็จะง่ายต่อการทราบถึงตัวตนโดยไม่ต้องไปพิสูจน์อัตลักษณ์ให้ยุ่งยาก ซึ่งโครงการลักษณะนี้รัฐควรสนับสนุน หรือนำมาพิจารณาต่อยอดจัดทำให้เป็นระบบมากขึ้น

“ฟีนิกซ์” ที่ถูกใช้เป็นชื่อเรือ คือเทพในตำนานเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นอมตะ สามารถฟื้นคืนชีพได้แต่ ทุกชีวิตในเรือ “ฟีนิกซ์” ที่ถูกทะเลกลืนกินไปมิอาจฟื้นคืน มีแต่มาตรการป้องกันที่ดีและความไม่ประมาทเท่านั้นที่จะรักษาทุกชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย