Economics

กฟผ.ตั้งแผนเตรียมปิด ‘เหมืองแม่เมาะ’

กฟผ.เตรียมแผนล่วงหน้า ปิดเหมืองแม่เมาะใน 30 ปี ป้องกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน และสิ่งแวดล้อม เน้นสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน-ฟื้นฟูพื้นที่ และใช้ประโยชน์สูงสุด เล็งปั้นเป็น “Smart City” วิถีชุมชน 

IMG 20191025 131514

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่าขณะนี้กฟผ.อยู่ระหว่างการทำแผนเตรียมปิดเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ใน 30 ปี เป้าหมายเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันชุมชนพึ่งพาเหมือง มีคนทำงานในเหมืองอยู่พอสมควร แนวทางที่เตรียมไว้เบื้องต้นก็คือ การส่งเสริมอาชีพ และการฟื้นฟูพื้นที่ เช่น การปลูกป่า เป็นต้น

“นโยบายกระทรวงพลังงาน ก่อนหน้านี้มีแนวทางให้กฟผ.หาแนวทางทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุดหลังปิดเหมือง เช่น ทำเป็น Smart City ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน และมุ่งเน้นความยั่งยืน ปัจจุบันก็ได้เริ่มหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางแล้ว อย่างไรก็ตามจะไปทางไหน เราจะเน้นให้ชุมชนคิดเอง”

โดยเบื้องต้นมีหลายแนวทางในการฟื้นฟูเหมือง เช่น อาศัยความต่างระดับของพื้นดิน ราวกว่า 1,000 เมตรทำคล้ายลำตะคองสูบกลับ ผลิตไฟฟ้าได้ หรือ นำแอ่งน้ำที่มีน้ำขัง ทำเป็นโซลาร์ลอยน้ำ เป็นต้น สำหรับค่าใช้จ่ายในการปิดเหมือง ได้ทะยอยสะสมเงินสำหรับนำมาดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว

20151127 01

สำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง ต้องมาพิจารณาต่อไป ว่าจะดำเนินการอย่างไร ให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าหล่อเลี้ยงภาคเหนือได้อย่างต่อเนื่อง ไฟไม่ขาด  เพราะโรงไฟฟ้าแม่เมาะแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าหลักที่ป้อนภาคเหนือ กำลังผลิตปัจจุบัน 2,400 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการทยอยปิดโรงไฟฟ้าตามอายุการใช้งาน และนำเครื่องใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มาทดแทนอย่างต่อเนื่อง จากเดิมมีอยู่ 13 หน่วยผลิต ปัจจุบันหน่วยที่ 1-3 ได้หยุดเดินเครื่อง และปลดออกไปจากระบบแล้ว

ส่วนหน่วยที่ 4-7 ยกเลิกผลิต และมีหน่วยใหม่ขึ้นมาแทนที่กำลังผลิตรวม 655 เมกะวัตต์จ่ายไฟฟ้าแล้วเมื่อต้นปี 2562 ส่วนหน่วยที่ 8-9 ก็เช่นเดียวกัน จะมีหน่วยใหม่ขึ้นมาแทนที่ กำลังผลิต 655 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง เตรียมทำครั้งที่ 3 จากนั้นจะนำเสนอสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และครม.ในปีนี้ ส่วนหน่วยที่ 10-13 กำลังผลิตรวม 1,200 เมกะวัตต์ ต้องปลดออกในช่วงปี 2568-2569 เพราะไม่มีถ่านหินรองรับแล้ว

ทั้งนี้เหมืองแม่เมาะเริ่มต้นเปิดเหมืองในปี 2460 และเริ่มผลิตถ่านหินลิกไนต์ออกจำหน่ายในปี 2497 นำมาใช้ป้อนโรงไฟฟ้าในปี 2515 มีกำลังผลิต 16 ล้านตันต่อปี ปริมาณสำรองถ่านหินอยู่ที่ 300-400 ล้านตัน

“หน่วยผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เข้ามาแทนที่ กฟผ.เลือกเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด อย่าง Supercritical และมีการติดตั้งเครื่องดักฝุ่นประสิทธิภาพ 99.7% รวมถึงเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นแบบระบบเปียก ” 

IMG 20191025 110549

ปัจจุบันบริเวณเมืองแม่เมาะพื้นที่กว่า 40,000 ไร่ ได้ปรับบางส่วนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยกฟผ.จับมือกับจังหวัดลำปาง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ ประจำปี ครั้งที่ 15 จะจัดระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายนี้

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการกฟผ. กล่าวว่า เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นภายใต้ธีม “GREENOVATION in the Park ” เพื่อสื่อให้เห็นถึงการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งเหมืองและการผลิตไฟฟ้า

ด้านนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า คุณภาพอากาศที่แม่เมาะดีกว่ากรุงเทพแน่นอน และสภาพอากาศที่ดี มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งวัด น้ำพุร้อน ปางช้าง และอาหารท้องถิ่น ที่สำคัญการเดินทางที่สะดวก ทำให้แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาลำปาง และแม่เมาะจำนวนมาก แม้จะเป็นเมืองรองก็ตาม และเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะปีนี้คาดว่าจะมีนักเท่องเที่ยวเข้ามามากกว่าปีที่แล้ว  หรือไม่ต่ำกว่า 3  แสนคน มีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท พิสูจน์ได้เห็นว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะสามารถอยู่คู่กับชุมชนได้

 

Avatar photo