Business

ไฮไลท์ ‘ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน’

“โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง” ได้ลงนามสัญญาไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา แต่หลายคนอาจยังงงๆ กับโครงการนี้ เพราะเป็นเมกะโปรเจ็คที่ซับซ้อน และเป็นการลงทุนรูปแบบใหม่ในประเทศไทย “The Bangkok Insight” จึงขอสรุปไฮไลท์ทั้งหมดไว้ให้ผู้อ่านที่นี่แล้ว

fig 17 06 2019 07 55 40

  • โครงการนี้เกิดขึ้นในรัฐบาล “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงทำให้ผู้โดยสารเดินทางจากสนามบินเข้าสู่ตัวเมืองและเขตเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
  • รถไฟความเร็วสูงสายนี้มีระยะทางทั้งหมด 220 กิโลเมตร ผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง และผ่านสนามบินหลัก 3 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา
  • การลงทุนเป็น รูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งนับเป็นการ PPP รถไฟความเร็วสูงครั้งแรกในประเทศไทย โดยเอกชนจะได้รับสิทธิ์ก่อสร้างและบริหารรถไฟความเร็วสูง รวมถึงสิทธิอื่นๆ ได้แก่ สิทธิ์ในการบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์, สิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินมักกะสัน 150 ไร่ และพื้นที่รอบสถานีศรีราชา 25 ไร่ เป็นระยะเวลาทั้งหมด 50 ปี คิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 224,544.36 ล้านบาท แต่เมื่อหมดสัมปทานแล้ว ก็ต้องคืนสิทธิ์และโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดให้แก่รัฐบาล
S 72826917
บรรยากาศวันยื่นซองประมูลไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน
  • “กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CP)” เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการนี้อย่างขาดลอย ด้วยการยื่นขอรับเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างต่ำกว่ากรอบของรัฐบาล 2,200 ล้านบาท ส่วน “กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (กลุ่ม BTS)” ที่เป็นคู่แข่ง เสนอขอรับเงินอุดหนุนเกินกรอบไปถึง 5 หมื่นล้านบาท
  • แม้จะรู้ผลซองราคาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 แต่การเจรจาระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกลุ่ม CP ในขั้นตอนต่างๆ ก็ยืดเยื้อยาวนาน เพราะทั้ง 2 ฝ่ายมีมุมมองที่แตกต่างกัน โดยกลุ่ม CP ต้องการปิดจุดเสี่ยงทางธุรกิจให้มากที่สุด แต่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่สามารถทำอะไรเกินเงื่อนไขการประมูลได้
  • เมื่อถึงยุครัฐบาลเลือกตั้ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี  ได้มอบให้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ ซึ่ง “อนุทิน” ก็ได้ทุบการเจรจา จนเกิดเป็นพิธีลงนามสัญญาระหว่าง “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่ม CP)” และ “การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)” เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 24 ตุลาคม 2562

ไฮสปีด222

 

  • แต่หลังลงนามสัญญา ก็ยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ทันที เพราะการรถไฟฯ ต้องใช้เวลาเคลียร์พื้นที่ เช่น ผู้บุกรุกหรือสาธารณูปโภคก่อน จึงคาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มก่อสร้างได้เร็วที่สุดภายใน 1 ปีข้างหน้า
  • การก่อสร้างจะใช้เวลาทั้งหมด 5 ปี นับจากการเข้าพื้นที่ครั้งแรก หรือต้องแล้วเสร็จทั้งหมดประมาณปี 2568 แต่ก็มีบางข้อมูลระบุว่า จะเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งอาจเป็นการเปิดวิ่งเพียงบางส่วนของเส้นทางเท่านั้น
  • กลุ่ม CP ยังประกาศจะทุ่มเงิน 1.4 แสนล้านบาทพัฒนา “ที่ดินมักกะสัน” ขนาด 150 ไร่ ซึ่งนับเป็นที่ดินผืนใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ แปลงสุดท้าย โดยตั้งเป้าจะพัฒนาสถานีรถไฟมักกะสันและอสังหาริมทรัพย์ขนาด 2 ล้านตารางเมตร การออกแบบจะเน้นพื้นที่สีเขียวและใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนจะมีพื้นที่สาธารณะตามที่เครือข่ายประชาชนเคยเรียกร้องหรือไม่ ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้
  • นอกจากนี้ เชื่อว่า เมื่อเอกชนข้ามาบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แทนการรถไฟฯ แล้วจะทำให้การเดินรถจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น ความถี่ของรถจะเพิ่มจาก 15 นาทีต่อขบวน เป็น 2-3 นาทีต่อขบวนเหมือนรถไฟฟ้าในเมือง

fig 12 04 2019 12 50 50

  • สำหรับพันธมิตรการลงทุนของกลุ่ม CP ในครั้งนี้ ประกอบด้วย “เครือ ช.การช่าง” ถือหุ้นรวมกัน 15%, “China Railway Construction Corporation Limited (CRCC)” จากประเทศจีน ถือหุ้น 10% และ บมจ. อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ถือหุ้น 5% โดย CP ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ในสัดส่วน 70%
  • แต่ CP ยอมรับว่า มีคนสนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการนี้เพิ่มขึ้น ในระหว่างการก่อสร้างจึงอาจเห็น CP ลดสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการลงเหลือ 51% และเหลือ 40% เมื่อเปิดให้บริการแล้ว
  • ด้านเงินทุน ก็มีผู้สนใจปล่อยกู้ทั้งในด้านอสังหาริมทรัพย์และโครงการรถไฟความเร็วสูง ขณะเดียวกันก็มองการระดมทุนผ่าน “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน” และการนำบริษัทจดทะเบียนใน “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ในอนาคตด้วย
  • สำหรับอุปสรรคสำคัญของโครงการในขณะนี้ คือเรื่องการเคลียร์พื้นที่ และส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ เอกชน ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า การรถไฟฯ และรัฐบาลจะดำเนินการตามแผนได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงต้องจับตาบทสุดท้ายของโครงการว่า ตอนจบจะ “สำเร็จ” ตามแผน หรือกลายเป็น “ค่าโง่” อย่างที่มีผู้ปรามาสไว้

 

Avatar photo