Business

แค่ 3 วัน!! เปิดข้อมูล ‘บริษัทใหม่ CP’ ที่จะลงนาม ‘ไฮสปีด’ พรุ่งนี้

การลงนามสัญญาร่วมทุน (PPP) ครั้งประวัติศาสตร์ “โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CHP) มีกำหนดจัดขึ้นในเวลา 13.30 น. วันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.)

สัญญาฉบับนี้มีอายุยาวนานถึง 50 ปี โดย CPH จะได้รับสัมปทานการก่อสร้างและบริหารรถไฟความเร็วสูง ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร, สิทธิ์การเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ เรล ลิงก์ เส้นทางปัจจุบัน ช่วงสถานีพญาไท-สถานีสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายช่วงสถานีพญาไท-สถานีดอนเมือง รวมถึงได้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่มักกะสันขนาด 150 ไร่ใจกลางกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา ขนาด 25 ไร่ มูลค่ารวม 2.2 แสนล้านบาท

fig 16 04 2019 12 27 18

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม CPH ไม่สามารถลงนามสัญญาได้เอง แต่ต้องตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาลงนามสัญญา กับการรถไฟฯ ในวันพรุ่งนี้(24ต.ค.) ซึ่งก็คือ “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด”

โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 หรือเพียง 3 วันก่อนลงนามสัญญา ! ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท

บริษัทจดทะเบียนในหมวดธุรกิจ การขนส่งผู้โดยสารในเขตเมืองและปริมณฑล ยกเว้นทางรถโดยสารประจำทาง วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียนคือ เพื่อประกอบกิจการและ/หรือลงทุนในกิจการขนส่งทางราง และ/หรือการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคาร ซี.พี. ทาวเวอร์ ถนนสีลม

S 72826911
ศุภชัย เจียรวนนท์ นำทีมยื่นซองประมูลไฮสปีด 3 สนามบิน

ด้านคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทมีจำนวน 9 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1

  1. นายศุภชัย เจียรวนนท์
  2. นายนพปฎล เดชอุดม
  3. นางโป หง
  4. หม่อมหลวงสุภสิทธิ์ ชุมพล

กลุ่มที่ 2

  1. นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข
  2. นายชาติวุฒิ ตันจันทร์พงศ์
  3. นายเปรมชัย กรรณสูต
  4. นางพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล
  5. นายเหล่ย จั๋ว

การลงชื่อผูกพันใดๆ จะต้องประกอบด้วยบอร์ดกลุ่มที่ 1 คนใดคนหนึ่ง ลงลายมือชื่อร่วมกับบอร์ดกลุ่มที่ 2 คนใดคนหนึ่ง รวมเป็น 2 คน และประทับตรา

fig 12 04 2019 12 50 50

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด จะมีสัดส่วนเหมือน CPH ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CP) เป็นแกนนำ ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 70%, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ถือหุ้นรวมกัน 15%, China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือหุ้น 10%, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ถือหุ้น   5%

นี่คือรายละเอียดของบริษัทเอกชนรายแรก ที่จะลงนามร่วมทุนรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย

Avatar photo