Marketing Trends

สลัดภาพ ‘ผู้สูงวัย’ ยุคเดิม รับโอกาสตลาด ‘มหาศาล’ ที่มาพร้อม ‘ความเสี่ยง’

ปรากฏการณ์ใหม่ของโลกที่กลุ่มผู้สูงอายุจะครองเมืองในทุกพื้นที่ของโลกเป็นครั้งแรก ในปี 2593 (ค.ศ.2050) และกลายเป็นตัวขับเคลื่อน สู่ เศรษฐกิจสูงวัย (Silver economy) และ เศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity economy) ทำให้กลุ่มผู้สูงวัยรวมถึงในประเทศไทย จะเป็นกลุ่มประชากรที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นโอกาสตลาดมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมความเสี่ยงด้วยสำหรับการทำธุรกิจ

Happy elderly

สำหรับในประเทศไทย ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society) ตั้งแต่ปี 2543 ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 10 และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ในปี 2564 ซึ่งจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20% จากนั้นในปี 2578 ก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Super Aged Society) โดยมีประชากรสูงอายุถึง 30% ทำให้หลายฝ่ายต้องเริ่มตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับการเตรียมการรองรับไว้ล่วงหน้า

อิปซอสส์ เปิดเผยผลงานวิจัยชุด “Getting Older – Our Aging World” เพื่อทำความเข้าใจกับผู้สูงวัยในยุคนี้ และมองหาโอกาส รวมถึงลดความเสี่ยง โดยภาพรวมพบว่า สิ่งสำคัญคือ การสลัดภาพผู้สูงวัยในยุคเดิมออกไป เนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยพบว่ากว่า 75% ของผู้สูงวัยคนไทยมีความสนใจและต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และ กว่า 1.2 ล้านของผู้สูงวัยชาวไทยที่มีอายุเกิน 60 ปี เข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ต ดังนั้นความเชื่อที่ว่าผู้สูงวัยไม่ยอมปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องอีกต่อไป

2 8

 

 

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเดิมๆ ที่ฝังใจกันทั่วไปว่า ผู้สูงอายุไม่สนใจเรื่องเทคโนโลยีและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นวิวัฒนาการของโลกนั้น อาจต้องมีการทบทวนใหม่ เพียงแต่ผู้สูงอายุอาจจะมีข้อจำกัดบ้างในบางจุดเพื่อการปรับตัวให้เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าว ซึ่งอาจต้องใช้เวลากับสิ่งเหล่านั้นมากเป็นพิเศษ อีกทั้ง อาจต้องใช้ความพยายามมากกว่าในการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้น

สำหรับสิ่งที่ผู้สูงอายุทั่วโลกวิตกกังวลมากที่สุด คือ เรื่องเงิน และ สุขภาพ (Top Worries – Money & Health) โดยสามารถเรียงลำดับตามความวิตกกังวลของกลุ่มผู้สูงวัยของโลก คือ กลัวมีเงินไม่พอต่อการดำรงชีวิต 30%, กลัวมีปัญหาการเคลื่อนไหวทางร่างกาย 25%, เสียความทรงจำ 24%, ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้ 22%, การจากไปของคนในครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูง 20%, ความเจ็บป่วย 20%, ถูกทิ้งให้เปล่าเปลี่ยว เหงา เศร้า 19%, ไม่มีอิสระ 18%, ตาย 16%, หูตึง / ตามองไม่เห็น 13%

3 5

ขณะที่ความกังวลใจของผู้สูงอายุคนไทยเมื่อถึงวัยชรา เรียงตามลำดับได้ดังนี้ 51% ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้,  41% เจ็บป่วย,  34% ความเคลื่อนไหวทางร่างกาย, 32%  มีเงินไม่พอต่อการดำรงชีวิต, 27% เสียความทรงจำ, 20% ญาติและเพื่อนฝูงค่อยๆ จากไป, 15% สูญเสียสายตาและ การได้ยิน, 10%ถูกทิ้งให้ล้าหลังทางเทคโนโลยี, 10% ผมหงอกและศีรษะล้าน, 10% เบื่อหน่าย, 10% ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว, 7% ไมได้รับการดูแลเอาใจ เป็นต้น

ในส่วนของพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของกลุ่มผู้สูงวัย พบว่า กิจกรรมยอดฮิตติดอันดับที่ผู้สูงอายุชาวไทยชื่นชอบตามลำดับ คือ การออกกำลังกาย เดินทางท่องเที่ยว การเพาะปลูก ชอบสังคมเยี่ยมญาติ / เพื่อนสนิทมิตรสหาย การเดินออกกำลังกาย และ ร่วมกิจกรรมชุมชน ในอัตรา 56%, 49%, 34%, 27%, 27% 22% ตามลำดับ

ส่วนพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้สูงอายุชาวไทยนั้น ผลสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุชาวไทยได้ให้ความ สำคัญในเรื่องของการใช้จ่ายเงินในเรื่องต่างๆ ดังนี้ การใช้จ่ายเพื่ออาหารเป็นอันดับสูงสุด ถึง 95% ตามมาด้วย การออกไปทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษถึง 78% ใช้เงินกับซื้อเครื่องไฟฟ้าในบ้าน 78% ใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้า 73% ใช้เงินเพื่อการผ่อนคลาย 73% การท่องเที่ยว 71% ตามลำดับ

5 3

ไม่เพียงที่ผู้สูงวัยในปัจจุบันเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อของสังคม ผู้สูงวัยในปัจจุบันยังมีความต้องการและความชื่นชอบที่ไม่เหมือนสิ่งที่สังคมคิดมาในตลอดในอดีต การมองว่าผู้สูงวัยชอบอยู่บ้านเลี้ยงหลาน คือความเชื่อที่ไม่สะท้อนภาพความเป็นจริงของผู้สูงวัยในปัจจุบัน จากสถิติ ในเปรู ครึ่งหนึ่งของผู้สูงวัยต้องการออกไปท่องเที่ยว 40% ต้องการเริ่มธุรกิจของตัวเอง และอีกมากกว่า 3 ใน 4 ของผู้สูงวัยทั้งในประเทศไทย และฝรั่งเศส ยังมีความสนใจ และต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่ได้ต้องการอยู่บ้าน ทำสิ่งที่จำเจอีกต่อไป

จากความต้องการของผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน ตลาดผู้สูงวัยได้เพิ่มความซับซ้อนละมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในประเทศอังกฤษเม็ดเงิน 3 แสน 2 หมื่นล้านปอนด์ ซึ่งนับเป็น 47% ของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดมาจากกลุ่มผู้สูงอายุ ในฝรั่งเศสผู้สูงวัยมีเงินที่เตรียมไว้ใช้ท่องเที่ยวถึง 2 หมื่น 2 พันล้านยูโร ในญี่ปุ่นเองผู้สูงอายุยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินถึง 1.439 พันล้านล้านเยน ซึ่งนับเป็น 80% ของตลาดการเงินทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี 2575 ที่อเมริกา เศรษฐกิจอายุวัฒน์ (Longevity Economy) หรือก็คือมูลค่าตลาดที่รวมทั้งสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยนั้นจะมีสัดส่วนที่ใหญ่กว่าทุกภาคส่วนของตลาดอื่นรวมกัน ส่านในไทยเองผู้สูงอายุถึง 95% พร้อมใช้จ่ายสำหรับอาหาร และ 73% พร้อมใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้าสำหรับตัวเอง

6 5

ในเรื่องของการเมืองก็คาดการณ์ว่า ผู้สูงวัยมักจะเป็นกลุ่มคนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือก ตั้งมากกว่ากลุ่มเด็กหรือกลุ่มวัยรุ่นทำให้อิทธิพลของผู้สูงวัยในเวทีการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐบาลควรจะใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบัน 3 ใน 10 ของประชากรโลกมองว่าผู้สูงวัยมีอิทธิพลต่อการเมืองมากเกินควร ในขณะที่ 1 ใน 3 ของคนไทยซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยโลกอย่างชัดเจนเห็นด้วยว่าผู้สูงวัยมีอิทธิพลต่อการเมืองมากไปแล้ว

แม้ตลาดผู้สูงอายุจะสร้างโอกาสใหม่ๆขึ้น ในขณะเดียวกันจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นก็ก่อให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงในหลายๆด้าน ทั้งจากมุมมองของปัจเจกบุคคล และมุมมองทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ในส่วนบุคคล ผู้สูงวัยมีความกังวลเป็นพิเศษใน 2 เรื่องหลัก คือเรื่องการเงิน และ สุขภาพ ทำให้ในไทย 79% ของคนไทยวางแผนที่จะทำงานต่อหลังอายุเกษียณเพราะกลัวว่าจะมีเงินไม่พอในช่วงวัยชรา

1 15

ขณะที่ในด้านหนึ่งกลุ่มผู้สูงวัยเป็นกลุ่มที่มีเงินและกำลังซื้อสูงกว่าในหลายกลุ่มอายุ แต่ในขณะเดียวกันมีจำนวนผู้สูงวัยจำนวนมากที่เข้าข่าย “ยิ่งแก่ ยิ่งจน” ซึ่งสังคมผู้สูงวัยจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ทวีคูณขึ้นในอนาคตอันใกล้

จากผลวิจัยสะท้อนว่า สังคมผู้สูงวัยจะนำมาซึ่งโอกาสอันมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับคลื่นความเสี่ยงที่จะถาโถมมาอย่างไม่หยุดยั้ง ความเข้าใจอย่างสุดซึ้งและการเตรียมพร้อมอย่างเคร่งครัดเท่านั้นที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และอุปถัมภ์การปรองดองของสังคมและคนในแต่ละช่วงอายุได้

Avatar photo