Branding

‘TMA’ ร่วมวงผลักดันนักเทคโนโลยีไทย ‘ต่อยอดธุรกิจ-เพิ่มมูลค่า’

ธุรกิจในยุคปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงและทวีความท้าทายมากขึ้นในทุกปี การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้สามารถนำมาต่อยอดธุรกิจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ อ้างอิงจากการจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย International Institute for Management Development (IMD) แสดงให้เห็นว่าไทยควรมุ่งเน้นและผลักดันการวิจัยและพัฒนาเทคนโนโลยีและนวัตกรรม นำไปสู่การจดสิทธิบัตรและช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ให้ได้มากขึ้น

นายสัตวแพทย์ รุจเวทย์ ทหารแก้ว 0521
รุจเวทย์ ทหารแกล้ว

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงจับมือร่วมกันจัดงานประกาศผลรางวัลพระราชทานนักเทคโนโลยีดีเด่น และงานสัมมนาเชิงวิชาการ Outstanding Technologist Awards and STI Forum 2019 ภายใต้หัวข้อ Turning Science & Technology into Business เพื่อเชิดชูเกียรติและแสดงความยินดีต่อนักเทคโนโลยีไทยที่สร้างผลงานด้านการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลักดันให้ผลงานวิจัยได้เชื่อมโยงไปสู่ตลาดธุรกิจได้อย่างแท้จริง

นายสัตวแพทย์ รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ประธานกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในปี 2562 นี้มีโครงการของนักเทคโนโลยีรวมทั้งสิ้น 62 โครงการ แบ่งเป็น โครงการนักเทคโนโลยีดีเด่น 41 โครงการ และโครงการนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่จำนวน 21 โครงการ โดยคำนึงถึงศักยภาพและความสามารถในการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติหรือเชิงพาณิชย์ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

ภาพหมู่ 2

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ใช้ “เรือใบซุปเปอร์มด” ซึ่งเป็นผลงานของพระองค์ท่านที่แสดงถึงการพัฒนาการให้เกิดประสิทธิภาพการใช้งานที่เป็นเลิศ เป็นแบบฉบับกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างครบวงจร โดยนักเทคโนโลยีดีเด่น จะได้รับประติมากรรมเรือใบซุปเปอร์มด และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่จะได้รับเหรียญเรือใบซุปเปอร์มดอีกด้วย

งานสัมมนา “Outstanding Technologist Awards and STI Forum 2019” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นเวทีคุณภาพด้านนวัตกรรมระดับโลก เนื่องจากวิทยากรล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาประเทศที่ประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียงมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ใหม่ ๆ และแนวคิดที่สามารถนำไปปรับปรุงประยุกต์ใช้ได้ภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภายในงาน จะมีการประกาศผลรางวัลพระราชทาน “นักเทคโนโลยีดีเด่น” เพื่อเชิดชูเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจแก่ นักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานโดดเด่นด้านการวิจัยและพัฒนาให้สร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยไฮไลท์เด่นภายในงาน อาทิ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Visualizing Business Opportunities through Foresight”, การนำเสนอเทคโนโลยีขั้นสูง (TechShare) ซึ่งได้รับการยอมรับและคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จนได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2562 และ บูธแสดงผลงานของนักเทคโนโลยีที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย เป็นต้น

นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์

นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า TMA เป็นอีกหนึ่งองค์กรหลักที่ช่วยผลักดันให้นักเทคโนโลยีลุกขึ้นมานำเสนอไอเดียและต่อยอดงานวิจัยให้สามารถวางสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ได้ เพราะเน้นให้ความสำคัญและสร้างประโยชน์อันเกิดจากความร่วมมือและการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Tech Transfer) จากหน่วยงานวิจัยไปสู่ภาคธุรกิจ อีกทั้งเป็นพื้นที่เชื่อมโยง (Network Platform) ระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษาอีกด้วย

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ ผู้บริหารองค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา ที่เห็นความสำคัญของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในองค์กร รวมทั้งบุคลากรที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนกลุ่มสตาร์ทอัพ (Startups) รวมถึงผู้ประกอบการในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะสามารถช่วยต่อยอดไอเดียจากห้องทดลองสู่ความสำเร็จเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง

Avatar photo