World News

‘ฮากิบิส’ ทำธุรกิจญี่ปุ่นอ่วม ‘ซัพพลาย’ ติดขัดเปิดบริการไม่ได้

ธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มญี่ปุ่น รวมถึง ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร ที่ต้องปิดให้บริการ เพราะพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส กำลังดำเนินมาตรการหลายอย่าง เพื่อที่จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

Mainichi
ภาพ : Mainichi

อย่างไรก็ดี ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายให้กับเครือข่ายการจัดหาผลิตภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆ ให้กับธุรกิจเหล่านี้ ทำให้ร้านค้าร้านอาหารจำนวนมาก ตกอยู่ในความเสี่ยง ไม่รู้ว่าจะสามารถกลับมาให้บริการได้อีกครั้งเมื่อใด

ในตอนแรกนั้น เซเว่น อีเลฟเว่น เจแปน โค ผู้ให้บริการร้านสะดวกซื้อ 7-อีเลฟเว่น มีแผนที่จะปิดร้านสาขาราว 1,000 แห่ง เพื่อรับมือกับพายุไต้ฝุ่นลูกนี้ แต่ร้านแฟรนไชส์จำนวนมากในภูมิภาคคันโต โตโฮกุ และภูมิภาคอื่นๆ ต่างปิดให้บริการเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่พายุไต้ฝุ่นฮากิบิสพัดขึ้นฝั่งญี่ปุ่นเช่นกัน ทำให้ยอดการปิดร้าน 7-อีเลฟเว่น ในช่วงเวลานั้น มีมากถึงราว 4,000 ร้าน เช่นเดียวกับ แฟมิลี่มาร์ท โค และลอว์สัน อิงค์ ที่ปิดร้านสาขาในวันดังกล่าวราว 2,500 และ 2,200 แห่ง

แม้แต่ละบริษัทจะส่งพนักงานจากฝ่ายบริหาร และแผนกอื่นๆ เข้ามาช่วย ในความพยายามที่จะเร่งให้ร้านเหล่านี้กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง โดยเฉพาะในภูมิภาคคันโต และโตโฮกุ ที่ยังมีน้ำท่วมอยู่ แต่นับถึงวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็ยังมีร้าน 7-อีเลฟเว่นอีกมากกว่า 30 สาขา และแฟมิลีมาร์ทอีก 35 สาขา ที่ยังเปิดไม่ได้ ในส่วนของสาขาที่เปิดได้แล้วนั้น การบริการก็ยังต้องเจอกับความยากลำบากอยู่เช่นกัน

page23 typhoon

เชนร้านราเมงโคอุระคูเอน ที่มีสาขาอยู่ทั้งหมด 497 แห่ง ต้องประกาศระงับให้บริการร้านสาขา 150 แห่ง ที่เพิ่งกลับมาเปิดใหม่หลังพายุผ่านไปแล้ว ก็ต้องปิดร้านอีกครั้ง เพราะโรงงานในเมืองโคริยามะ จังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตส่วนผสมหลักของบริษัทยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำให้โรงงานต้องปิดชั่วคราวตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา

ส่วนแมคโดนัลด์ เจแปน ก็ยังยืนยันไม่ได้ว่าร้านสาขา 3 แห่ง ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมในฟุกุชิมะ และไซตามะ จะกลับมาเปิดได้อีกครั้งเมื่อใด ทั้งร้านสาขาอีกราว 80 แห่ง ที่ภูมิภาคโตโฮกุ และคันโต-โคชิเนทสึ ก็ยังขายอาหารได้ไม่ครบทุกเทมนู ซึ่งบริษัทระบุว่า กำลังดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัจจัยต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของเรื่องนี้อยู่

ไม่เพียงแต่ร้านอาหารเท่านั้น บริการไปรษณีย์ และขนส่งสินค้า ก็กำลังเผชิญกับปัญหาเช่นกัน โดยถนนที่ถูกน้ำท่วม และความเสียหายอื่นๆ จากพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส ทำให้เจแปน โพสต์ โค ผู้ให้บริการไปรษณีย์ญี่ปุ่น ให้บริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส สำหรับขนส่งสินค้าต่างๆ ในพื้นที่ 7 จังหวัด รวมถึง อิวาเตะ มิยากิ และฟุกุชิมะ ไม่ได้ ทั้งน้ำที่ท่วมตู้ไปรณีย์ ก็ยังทำให้บริษัทจัดเก็บไปรณีย์ภัณฑ์ เพื่อนำส่งไปยังพื้นที่อื่นๆ ไม่ได้เช่นกัน

ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมเป็นต้นมา เจแปน ฟรีท เรลเวย์ โค ประสบปัญหาในการจัดการกับตู้สินค้ารถไฟ 335 ตู้ และบริการอื่นๆ เพราะทางรถไฟเสียหายสายเจอาร์ ทั้งยังไม่สามารถกำหนดได้อย่างชัดเจนด้วยว่า จะสามารถกลับมาให้บริการอีกครั้งได้เมื่อใด

Avatar photo