COLUMNISTS

ย้อนอดีต ดู ‘ปัจจุบัน-อนาคต’ เรียนรู้ประชาธิปไตยจาก ‘ม.ร.ว.คึกฤทธิ์’ หยุดวิกฤติรอบใหม่

Avatar photo
3158

“มุ่งมั่นสร้างความปรองดอง”  “ขอให้มีความสมัครสมานสามัคคี”  “ขออย่าแตกแยก” “เลิกทะเลาะกันได้แล้ว” ถ้อยคำเหล่านี้มักจะได้ยินจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในยามที่ไปปราศรัย หรือปาฐกถาตามพื้นที่ต่างๆ มาตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งหัวหน้าคสช. จนถึงปัจจุบันเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็ยังคงใช้คำเหล่านี้ตอกย้ำสื่อสารกับประชาชน

1559752046 1 org
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สะท้อนถึงทัศนคติของผู้นำประเทศที่มองการเมืองอยู่ในมิติของความแตกแยกมากเป็นพิเศษ แต่พฤติกรรมกลับไม่ได้พยายามประสานรอยร้าวลดความแตกแยกตามปากที่พูด ตรงกันข้ามกลับวางกติกาการเข้าสู่อำนาจ ที่นำไปสู่การโจมตีเรื่องความไม่ชอบธรรม เปลี่ยนจากคนกลางกลายเป็นคู่ขัดแย้ง และยังมีบทบาทของผู้นำกองทัพที่คอยสนับสนุนรัฐบาล จนก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ทำให้ปัญหายังคงดำรงอยู่และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงจนนำไปสู่วิกฤติรอบใหม่

ฉายภาพให้ชัดขึ้น ได้จากคำบรรยายพิเศษหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองฝ่ายความมั่นคง” ของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ชี้ถึงภัยความมั่นคงจากฝ่ายซ้ายเดิม ที่ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน และพาดพิงผู้เห็นต่างกับทหาร หรือรัฐบาล ว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการบ่อนทำลายชาติ ซึ่งป็นเรื่องที่แม้แต่ อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ก็ยังแสดงความเป็นห่วงต่อทัศนคติของผู้มีอำนาจ ที่มุ่งขยายประเด็นสร้างความเมืองจากการดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่าง สะท้อนว่ารัฐบาลกับทหารจัดการกับวิกฤติแบบผิดพลาด และมองใจกลางของปัญหาผิดไป จนก่อให้เกิดการแบ่งขั้วแยกข้างประชาชนกลายเป็น “พวกเราและศัตรู” ขยายไปถึงความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่

ขณะที่คำบรรยายพิเศษของผู้บัญชาการทหารบก ยังนำไปสู่การขยายผลจาก พรรคอนาคตใหม่ ที่ใช้คณะกรรมาธิการความมั่นคงของรัฐฯ ทำหนังสือเชิญผู้บัญชาการทหารบกมาแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองในวันที่ 21 ตุลาคม หรือเรียกแบบจิ๊กโก๋ว่า ฝ่ายการเมืองกำลังย้อนศรเรียก ผบ.ทบ.มาปรับทัศนคติ หลังเป็นผู้ถูกฝ่ายทหารปรับทัศนคติในช่วงยุค คสช. ซึ่งยิ่งทำให้ภาพการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลกับกองทัพชัดเจนมากยิ่งขึ้น

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ 3
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

การปะทะทางความคิดระหว่าง “ฝ่ายที่ต้องการรักษาอำนาจ” กับ “ฝ่ายที่ต้องการสถาปนาตัวเองเป็นขั้วอำนาจใหม่” ยังมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างกองเชียร์สองขั้วที่รุนแรงมากขึ้นด้วย เพราะสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงความเห็นต่างกันทางอุดมการณ์ เท่านั้น แต่เป็นความแตกแยกที่ฝ่ายหนึ่งขยายให้เป็นเรื่องของคนต่างวัย โดยที่ฝ่ายผู้มีอำนาจกระโจนเข้าสู่สงครามนี้ แทนที่จะระงับยับยั้งด้วยการปลุกคนวัย 40 อัพที่เป็นผู้สนับสนุนตัวเอง มาชนกับคนรุ่นใหม่ที่เชื่อว่าถูกฮ่องเต้ซินโดรมล้างสมองไปแล้ว

ใจความสำคัญของเรื่องนี้ จึงต้องบอกว่า ขนมจีนผสมน้ำยา คือ พอกันทั้งคู่ระหว่างผู้มีอำนาจ กับพรรคสีส้ม ที่มุ่งเน้นโจมตีโครงสร้างเดิมและกองทัพแบบไม่หยุดหย่อน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติ เพราะฝ่ายหนึ่งมุ่งแต่รักษาอำนาจ ส่วนอีกฝ่ายก็ปักหมุดที่จะสร้างอำนาจใหม่ ต่างฝ่ายต่างใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

สังคมไทยจึงถูกบังคับให้เลือกระหว่างประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่อิงกับกองทัพ กับประชาธิปไตยสุดโต่ง ที่ส่อถึงแนวคิดอันตรายที่แอบแฝงอยู่ จึงอยากชวนให้คิดถึงคำนิยามประชาธิปไตยของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยให้สัมภาษณ์กับอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ไว้ว่า “ประชาธิปไตย คือความเห็นที่ต่างกันแต่ไม่ฆ่าฟันกัน มาประชุมด้วยกันได้ระหว่างคนที่มีความเห็นต่างกัน และในที่สุดก็จะได้ฉันทามติร่วมกัน”

ท่านย้ำด้วยว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เพียงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือการเลือกตั้งเท่านั้น ในทางกลับกันประชาธิปไตยก็ไม่ได้หมายความว่าให้ราษฎรเลือกแล้วจะมีผลดีเสมอไป แต่ก็ต้องมีอะไรมาคอยคุมด้วย พอเลือกนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ก็ต้องมีเครื่องมือที่จะเอานายกรัฐมนตรีออกได้เช่นกัน ไม่เช่นนั้นจะยุ่ง ต้องมีการถ่วงดุลอยู่เสมอ อำนาจต้องไม่เบ็ดเสร็จ

d7

ที่สำคัญคือหัวใจของประชาธิปไตยผ่านงานเขียนเรื่อง “ไผ่แดง” อันเป็นเรื่องราวระหว่าง สมภารกร่าง กับ สหายแกว่น ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จรดปากกาสะท้อนสังคมยุคการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ ผ่านสองตัวละครที่คิดต่างกัน ไปสู่บทสรุปที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่เป็นคอมมิวนิสต์ จะบวชเป็นพระหรือไม่บวชเป็นพระ ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นเพื่อนเสียไป เพราะสุดท้ายแล้วความเป็นไทยด้วยกันเป็นเรื่องที่หนักแน่นกว่า

“ประชาธิปไตย” คงไม่ได้หมายถึงความชอบธรรมทางการเมือง หรือความถูกต้องของการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองเพียงเท่านั้น หากแต่เป็นการยอมรับระหว่างฝ่ายที่เห็นต่างกัน การรับฟังซึ่งกันและกันแม้จะคิดไม่เหมือนกัน เพื่อนำไปสู่การหาทางออกที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ และคนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์

จากถ้อยคำที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ พูดไว้เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วมาถึงปัจจุบัน คงเป็นเรื่องน่าตกใจเหมือนกัน เพราะ ประชาธิปไตยของเราไม่ได้เติบโตไปกว่าเดิมเลย แต่กลับมีแนวโน้มว่าสถานการณ์อาจเลวร้ายมากกว่าเดิม ด้วยความแตกแยกที่มีมากขึ้น การยอมรับฟังในความเห็นต่างน้อยลง โดยเฉพาะฝ่ายผู้มีอำนาจที่เหมาเอาความมั่นคงของรัฐบาลไปเป็นความมั่นคงของประเทศ

ทางออกให้ประเทศไม่เข้าสู่กับดักที่จะก่อให้เกิดวิกฤติรอบใหม่ จึงต้องเริ่มต้นที่ทัศนคติของผู้มีอำนาจเป็นอันดับแรก ต้องทำตัวเป็นผู้ดับไฟ ไม่ใช่สุมฟืนเข้ากองไฟ เหมือนที่ทำอยู่ในเวลานี้ เห็นต่างต้องอยู่ร่วมกันได้จึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และปลอดภัยที่สุดสำหรับบ้านเมือง นาทีนี้ ขอเพียงที่ยืนสำหรับคนที่รักชาติในแบบของตัวเองบ้าง คงจะดี