COLUMNISTS

มะเร็ง กับ การฉายรังสี

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
3424

วันก่อน ได้มีโอกาสร่วมฟังบรรยายของท่านรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วุฒิศิริ วีรสาร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ จุมพฏ คัคนาพร จากภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ท่านได้กล่าวถึงการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษา อย่างน่าสนใจทีเดียว เพราะแน่นอน ไม่มีใครอยากเป็นโรคร้ายชนิดนี้ แต่ถ้าแจ็คพอตเจอกับตัวเองแล้วเราควรดูแลรักษาอย่างไร?

เพราะเมื่อนึกถึงรังสี คงต้องย้อนกลับไปตอนที่พวกเรายังเด็ก ๆ ถ้ายังจำกันได้ดี เราได้เรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์และเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 มากันบ้าง โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงเรื่องราวสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งที่นึกถึงอันดับแรกในความคิดเรา ก็น่าจะเป็นเรื่องระเบิดปรมาณูที่ถล่มเมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ซึ่งทำให้ประเทศญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในครั้งนั้น ผลของระเบิดในครั้งนั้น ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นหลายแสนคนเสียชีวิตทันที! และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังมีผู้เสียชีวิตภายหลังการระเบิด ด้วยเพราะได้รับกัมมันตภาพรังสี และล้มป่วยเป็นมะเร็งอีกเป็นจำนวนมากของประชากรที่อาศัยในบริเวณ 2 เมืองดังกล่าว ซึ่งเกิดมาจากบรรพบุรุษที่ได้รับรังสี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย! ทำให้ประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการศึกษาเกี่ยวกับรังสีมากที่สุดในโลก…

มะเร็ง อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด

ในยุคนี้ ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีจะล้ำหน้ามากขนาดไหน โรคร้ายต่างๆ ดูเหมือนก้าวล้ำเข้าสู่มนุษย์เรามากขึ้นเช่นกัน ไม่ยกเว้นแม้แต่ “โรคมะเร็ง – Cancer” ที่คนวัยทำงานต่างก็ให้ความสนใจกันมากขึ้น อาจจะมีบางท่านยังไม่ทุกข์ร้อน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่น่าเป็นกันง่าย ๆ แต่ทว่า โรคมะเร็งนั้นอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด

มะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย (มานานหลายปีแล้ว) โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อย จัดเป็น 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งรังไข่และมะเร็งกระเพาะอาหาร สิ่งที่น่าแปลกเกี่ยวกับคนที่เป็นมะเร็ง ก็คือ ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง มักจะถามหมอที่รักษาว่า “เป็นแล้วจะหายไหม” ในขณะที่ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่เคยมีคำถามนี้เพราะอะไร? เพราะโรคหัวใจเป็นแล้วรักษา “ไม่หาย” แต่ถ้าป่วยเป็นโรคมะเร็ง ถ้าเป็นแล้วไม่รักษาก็ไม่หายแน่นอน!!

7D1CC861 75F0 4553 945C 28FAF471213E

มะเร็ง กับ การรักษา

  • การผ่าตัด
    สมัยก่อน เมื่อป่วยเป็นมะเร็ง หมอมักรักษาด้วยการผ่าตัด และแน่นอนคนไข้ มักจะต้องถามหมอว่า “ผ่าตัดแล้วมะเร็งจะถูกตัดไปหมดไหม ? มีอันตรายจากการผ่าตัดไหม ? อวัยวะที่เหลือหลังการผ่าตัดจะยังคงทำหน้าที่ได้เหมือนเดิมหรือเปล่า ? และจริง ๆ แล้ว การที่แพทย์ใช้วิธีการผ่าตัด นั่นก็คือ การกำจัดมะเร็งออกไปให้หมด และอวัยวะนั้น ๆ ก็ยังคงสามารถทำหน้าที่ได้อย่างปกติ
  • การใช้รังสีรักษา
    การใช้รังสีรักษา เพื่อทำให้มะเร็งมีขนาดเล็กลง และอาจไม่ต้องผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการใช้รังสีรักษา หรือ การผ่าตัด จะทำก่อน-หลัง แพทย์จะทำการวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจจะใช้รังสีรักษาควบคู่กับการผ่าตัดก็เป็นได้
  • การใช้ยามะเร็ง
    แพทย์จะวินิจฉัย ใช้กรณีที่มะเร็งแพร่กระจาย แพทย์อาจต้องใช้การให้ยา โดยการใส่สารเข้าไปในร่างกาย วิธีการรักษาแบบนี้ จึงไม่เหมือนกับ 2 ข้อแรก ที่เป็นการรักษาเฉพาะจุด โดยการใช้ยานี้ อาจทำได้โดยวิธีการฉีด หรือรับประทาน
  • การใช้ Stem Cell
    ถือเป็นวิธีที่ต้องมีการทำลายเซลล์เดิมที่เป็นมะเร็ง และใส่เซลล์ใหม่เข้าไป จึงต้องระมัดระวังในเรื่องการติดเชื้อระหว่างการดำเนินการ
  • พรีซิชั่น เมดดิซีน (Precision Medicine)
    ถือเป็นวิธีใช้รักษาเฉพาะกับโรค และการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล และในปัจจุบัน ยาที่ใช้รักษายังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยเป็นส่วนใหญ่

การรักษาโดยฉายรังสี

รังสีเอ๊กซเรย์นั้น ได้ถูกค้นพบมากว่า 100 ปี โดยท่าน Wilhelm Conrad Rontgen นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ส่วนนักฟิสิกส์/เคมี ที่เราคุ้นเคยชื่อกัน ก็คือ มาดามคูรี (Marie Curie) ซึ่งเป็นผู้ที่ค้นพบรังสีเรเดียม ซึ่งใช้ในการยับยั้งการขยายตัวของมะเร็ง

รังสีรักษา เป็นวิธีการรักษามะเร็งที่ได้ผลดี ได้ผลดีในการรักษาโรคมะเร็ง ถือเป็นวิธีการที่ถูกใช้ในการวงการแพทย์มานานมาก หลักการของรังสีรักษา คือ การให้รังสีในปริมาณที่มากพอ ที่จะทำลายเซลล์มะเร็งได้หมด และทำลายอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงให้น้อยที่สุด และรังสีที่ใช้คือ รังสีเอ๊กซ์ และ รังสีแกมมา

ในการทำลายเซลล์มะเร็ง สามารถทำลายได้ใน 2 วิธี กล่าวคือ ทำให้เซลล์มะเร็งตายในทันที และ ทำให้เซลล์มะเร็งสูญเสียความสามารถในการแบ่งตัว และด้วยความที่การฉายรังสี เพื่อรักษานั้น เป็นรังสีที่มีความถี่สูง ระดับเมกกะโวลล์ เราจึงไม่รู้สึกอะไร ขณะที่ได้รับรังสีนั้น เทียบกับสมัยยุคก่อน ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสี จะออกอาการดำเกรียม มีแผลผุพองในระยะแรก แต่ในปัจจุบัน วิวัฒนาการล้ำสมัย ความก้าวหน้าเทคโนโลยีช่วยให้การทะลุทะลวงดีขึ้น รังสีสามารถลงลึกใต้ชั้นผิวหนัง จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงลดน้อยลงไปมาก…

52805EB4 6CCE 4BA8 A98F 4F86BF17AC71

การปฏิบัติตัวหลังการฉายรังสี

โดยปกติแล้ว จะมีทีมรังสีแพทย์จากโรงพยาบาล มาให้คำแนะนำกับผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังฉายรังสี เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจและคลายความวิตกกังวล เพราะร่างกายคนเรานั้น สามารถจะซ่อมแซมตัวเอง และฟื้นคืนได้ภายใน 1-3 เดือน หรือในผู้ป่วยบางราย อาจใช้เวลาถึง 6 เดือน ถึงกลับมาแข็งแรงตามปกติ ดังนั้น ผู้ป่วยควรได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เพื่อที่จะได้ไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ โดยการรับประทานให้ได้ครบ 5 หมู่ อาหารต้องสุกสะอาด ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสี ควรเลี่ยงอาหารจำพวกหมักดอง เนื่องจากอาจทำให้ท้องเสียได้ และควรดื่มน้ำ 10 – 12 แก้วต่อวัน เพื่อลดอาการเจ็บคอ และช่วยในการขับถ่าย พักผ่อนให้เต็มที่ และไปพบแพทย์ตามที่นัด

อย่างที่มีคำกล่าวว่า “สุขภาพกาย รักษาได้ แต่สุขภาพใจ สำคัญสุด” ถึงแม้การฉายรังสีนั้นสามารถรักษามะเร็งได้ทั้งร่างกาย แต่..ไม่สามารถรักษาสุขภาพใจของเราได้นะคะ ดังนั้น หากป่วยเป็นมะเร็ง และได้รับการฉายแสงรักษาแล้ว อย่าลืม ดูแลสุขภาพจิตใจด้วยนะคะ ต้องไม่เครียด ไม่วิตกกังวล ทำจิตใจให้สบาย นั่งสมาธิ สวดมนต์ จิตใจเราจะได้มีพลัง มีกำลังใจ พร้อมกับร่างกายที่แข็งแรงค่ะ

เย็นวันนั้น ดิฉัน พร้อมผองเพื่อน ๆ ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับการฉายแสงรักษาโรคมะเร็งมาแบบเต็มอิ่มครบทุกมิติ รูปภาพ แสงสี (อาจารย์จัดเต็มเหมือนเดิม) ขอขอบพระคุณท่าน รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วุฒิศิริ วีรสาร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ จุมพฎ คัคนาพร สำหรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องของการรักษาโรคมะเร็ง ด้วยรังสีรักษา วันนี้ กลางวันนี้ จะทานอะไร คงต้องพิจารณาให้มากขึ้น เพราะ “You Are what you eat” นั่นเอง ดูแลสุขภาพกันนะคะ พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ

(เครดิต : ท่าน รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วุฒิศิริ วีรสาร
และผู้ช่วยศาสตราจารย์ จุมพฎ คัคนาพร ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล,ดร.ปิยวดี โขวิฑูรกิจ)

www.kinn.co.th
#KINN_Biopharma