Economics

‘รถไฟไทย-จีน’ เบรกลงนามสัญญาผู้รับเหมา ‘สผ.’ สั่งเคลียร์ปม EIA

“รถไฟไทย-จีน” เบรกลงนามสัญญาผู้รับเหมา เหตุ “สผ.” สั่งเคลียร์ EIA ฉบับปรับปรุงให้จบก่อน คาดใช้เวลาไม่นาน

Train2 01

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท จะต้องชะลอการลงนามสัญญางานโยธาทั้งหมดออกไปก่อน เนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้การรถไฟฯ  แก้ไขเพิ่มเติมรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจึงดำเนินการลงนามสัญญาต่อไป

สาเหตุที่การรถไฟฯ จะต้องปรับปรุง EIA เกิดจาก ฝ่ายจีนได้ดำเนินการออกแบบโครงการทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางส่วนจาก EIA ฉบับเดิม เช่น การปรับแนวเส้นทางบริเวณอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อหลีกเลี่ยงการเวนคืนที่ดิน, ปรับปรุงแบบสถานีรถไฟ, เปลี่ยนรูปแบบเส้นทางบางส่วน จากทางยกระดับ เป็นทางคันดิน เป็นต้น

ไฮสปีดเทรนไทยญุี่ปุ่น

การรถไฟฯ จึงต้องยื่น EIA ฉบับที่มีการเปลี่ยนแปลงไปให้ สผ. พิจารณา  ขณะนี้ได้ยื่นเรื่องไปถึง สผ. แล้ว  คาดว่าการพิจารณาจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญและรายงานฉบับใหม่ได้ปรับปรุงเรื่องต่างๆ ให้ดีมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ส่งผลให้การรถไฟฯ ไม่สามารถลงนามสัญญางานโยธา 2 ฉบับ ที่บอร์ดได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ได้แก่ สัญญา 4-2 งานโยธาสำหรับช่วงดอนเมือง-นวนคร ที่มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SST เป็นผู้ชนะการประมูล ด้วยราคา 8,626 ล้านบาท และ สัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ ที่มีกลุ่มกิจการร่วมค้า CAN เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคา 11,525 ล้านบาท แต่เอกชนก็ทำหนังสือขอยืนราคาข้อเสนอมาให้การรถไฟฯ แล้ว

fig 12 04 2019 12 50 50

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน แบ่งงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา โดยมี 2 สัญญาที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนอีก 12 สัญญาที่เหลืออยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูล, กำลังประมูล หรือทราบตัวผู้รับเหมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงนามสัญญา

โดยในปีงบประมาณ 2562 ระหว่างเดือนตุลาคม 2561- เดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ไม่สามารถผลักดันการประมูลงานโยธารถไฟความเร็วสูงไทย-จีนได้ตามแผน ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบลงทุนขององค์กรหลุดเป้าไปมาก ในปีงบประมาณ 2563 จึงต้องลุ้นว่าการรถไฟฯ จะสามารถผลักดันการก่อสร้างรถไฟไทย-จีนได้มากน้อยเพียงใด

Avatar photo