CEO INSIGHT

‘สยามราชธานี’ ความบังเอิญ สร้างธุรกิจ ‘พันล้าน’

ชื่อของ สยามราชธานี อาจไม่เป็นที่คุ้นหูโดยทั่วไป แต่สำหรับวงการธุรกิจเอาท์ซอร์ซ หรือธุรกิจจัดหาบุคลากร และรับจ้างเหมาบริการ (Outsourcing) ต้องบอกว่าเป็นขาใหญ่ในธุรกิจนี้ทีเดียว ด้วยประสบการณ์ยาวนานกว่า 40 ปี  มีลูกค้าทั้งหน่วยงานรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และบริษัทชั้นนำของประเทศใช้บริการมากมาย

S 6938728
ไกร วิมลเฉลา

ที่สำคัญ ยิ่งน้อยคนไปอีกที่จะทราบว่า จุดก่อเกิดของ สยามราชธานี ที่ปัจจุบันเติบใหญ่จนมีรายได้เกือบแตะ 2,000 ล้านบาทในวันนี้ เกิดขึ้นมาจากความ “บังเอิญ”

ไกร วิมลเฉลา ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO เล่าถึงที่มาของธุรกิจให้ฟังว่า จากต้นตระกูลรุ่นพ่อ ที่เปิดธุรกิจ ร้านยี่ปั๊ว ขายปลีกขายส่งสินค้า   ในตัวเมืองจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อโมเดิร์นเทรดจากเมืองกรุงอย่าง บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์,เทสโก้ โลตัส และแม็คโคร สยายปีกไปเปิดสาขา ทำให้ต้องเลิกธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมไป ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวอย่างหนึ่ง เพราะ “ไม่ดันทุรัง” รู้ว่าสู้ไปก็คงอยู่ได้ยากอยู่ดี

จากนั้น จึงตัดสินใจเข้ากรุงเทพเพราะอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เริ่มจากการขาย ยาง ล้อแม็กซ์ และมีลูกค้าเป็นผู้บริหารโรงงานยาสูบ บอกว่าอยากได้คนดูแลสวนที่โรงงานยาสูบ จึงหาคนงานให้ และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจที่ ไกร บอกขำๆว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นการเริ่มต้นสู่ธุรกิจเอาท์ซอร์สจนถึงวันนี้

ตัดต้นไม้1

“งานแรกผมจำได้เลยว่าเหมางานมา 14,000 บาท มีลูกน้อง 7 คน ประมาณปี 2524 รับดูแลจัดสวนให้โรงงานยาสูบได้ 1-2 ปี ก็เริ่มมีการบอกต่อ จนได้ลูกค้าเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ดูแลสวนให้ ต่อมาก็เป็น ปตท. บางจาก จากนั้น เมื่อลูกค้าที่ให้ดูแลสวนให้ อยากได้คนซักผ้าให้พนักงาน เราก็ทำให้ จนรู้ว่า อยากได้อะไร เราหาให้ได้”

จุดเริ่มต้นจากรับจ้างดูแลสวน จึงขยับขยายไปสู่ การจัดหาแม่บ้าน  จัดหาคนงานประเภทช่าง ไปจนถึงจ้างเหมาแรงงาน ปัจจุบันมีพนักงานถึง 8,000 คน ปิดรายได้ปี 2561 รวม 1,850.88 ล้านบาท

ไกร ไล่เรียงให้ฟังว่า ธุรกิจเอาท์ซอร์สของบริษัท แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก

1. ธุรกิจให้บริการจัดหาบุคลากร (Outsourcing Services) แบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ประเภท คือ ธุรกิจบริการบริหารจัดการ ทั้งการบริหารจัดการพนักงานขับรถยนต์และพนักงานสำนักงาน, การบริหารจัดการพนักงานช่างเทคนิค และ การบริหารจัดการงานบันทึกข้อมูล อีกบริการคือ ธุรกิจบริการดูแลภูมิทัศน์ ทั้งการบริการดูแลสวนขนาดใหญ่, บริการออกแบบและจัดสวน และบริการตัดต้นไม้ใหญ่ (Tree Care)

ขับรถ

สำหรับอีกกลุ่มธุรกิจ เป็นธุรกิจให้เช่าและบริการ แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ธุรกิจบริการรถยนต์ให้เช่า และธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์

ธุรกิจที่ขยับขยายออกไปอย่างมากเช่นนี้ ไกร ถึงกับบอกว่า ถ้าให้สร้างใหม่คงทำไม่ได้ เพราะตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เป็นการสะสมองค์ความรู้ สะสมบุคลากร  สะสมระบบงานจนทำให้มาถึงวันนี้ได้ หากจะเริ่มใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะการสร้างดีเอ็นเอของพนักงานเอาท์ซอร์ส ที่ต้องอดทน ทุ่มเท มีความรับผิดชอบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้และต้อง  พร้อมรับโทรศัพท์ตลอดเวลา นั่นเพราะ งานบริการ เป็นเรื่องที่รอไม่ได้

เมื่อถามว่า ในยุคของเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น และมีแนวโน้มจะใช้เครื่องจักร เข้ามาแทนแรงงานคนมากขึ้น จะกระทบกับธุรกิจเอาท์ซอร์สมากน้อยขนาดไหน เพราะเป็นธุรกิจที่ใช้คนเป็นหลัก ไกร ตอบอย่างมั่นใจว่า ไม่กระทบแน่นอน ด้วยปัจจัยสองด้านคือ เครื่องจักรไม่สามารถแทนแรงงานคนได้ในด้านงานบริการที่ต้องการความเอาใจใส่  อีกปัจจัยคือ บริษัทเองต้องมีการปรับตัว เพื่อรับความต้องการที่หลากหลาย และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์เช่นกัน

ครอบครัววิมลเฉลา 1
ครอบครัววิมลเฉลา

“ตัวอย่างง่ายๆ งานขับรถ พนักงานขับรถไม่ใช่แค่ขับรถแล้วจบ แต่ยังรวมไปถึงการล้างรถ ช่วยซื้อกับข้าว ไปรับลูกให้นายจ้าง จนถึงให้อาหารสัตว์เลี้ยง เรื่องแบบนี้ เครื่องจักรไม่มีทางทำได้ และอนาคตความต้องการเอาท์ซอร์ส  มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ต้องสนองตอบความต้องการใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายให้ได้เช่นกัน”

จากวิสัยทัศน์ดังกล่าว ทำให้ สยามราชธานี สร้างทีมงานไอทีของตัวเองขึ้นมา เพื่อพัฒนาระบบในการบริหารจัดการในรูปแบบที่เหมาะสมกับธุรกิจมากที่สุด รวมถึงการเพิ่มบริการใหม่ๆ เช่น พนักงานคีย์ข้อมูลให้กับเครดิตบูโร, คีย์ข้อมูลให้เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ซึ่งเรียกว่า ฝ่ายบริหารข้อมูล ในกลุ่มธุรกิจกาต้าโซลูชั่น พนักงานจดมิเตอร์ไฟฟ้า, น้ำประปา เป็นต้น

การพัฒนาระบบดิจิทัลในบริษัทขึ้นเอง เป็นไปตามวิชั่นที่วางไว้ว่า อยากมีธุรกิจใหม่ๆ บริการใหม่ๆ ที่สอดรับกับความต้องการใหม่ๆ  หนีไม่พ้นเรื่องของดิจิทัล และอีกประการคือ ต้องการพัฒนาระบบที่มีคนมาช่วยซัพพอร์ต จากเดิมที่ระบบจะซัพพอร์ตคนเท่านั้น ภายใต้ความคิดที่ว่า เทคโนโลยี เป็นตัวที่เข้ามาช่วยให้การทำงานของคนสะดวกสบาย แต่ท้ายที่สุดแล้ว “คน” ก็ต้องเป็นคนควบคุมและใช้งานเทคโนโลยีอยู่ดี

ขับรถ1

ก้าวล่าสุดของบริษัท สยามราชธานีคือ การยื่นจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ไกรให้เหตุผลว่า เพราะต้องการปรับตัวตั้งแต่ ตนเอง พนักงาน และระบบการทำงานให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก  ในช่วง 2 ปี ที่ศึกษาและเตรียมการ

สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนคือ “ความคิดเปลี่ยน” มีความท้าทายใหม่ๆ ในธุรกิจให้ต้องคิด ต้องทำ ทั้งวางแผนทั้งการสร้างทางโต และวางแผนรองรับความเสี่ยง ซึ่งเขามองว่า หากไม่คิดเข้ามาตลาด คงไม่ได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ และอาจส่งผลกระทบได้อนาคต หากยังคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม โดยไม่มีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาให้ปรับตัว

ไกรปิดท้ายว่า สำหรับคนที่ทำงานในแวดวงเอาท์ซอร์สมาเกินครึ่งชีวิตอย่างเขา งานยิ่งท้าทาย ยิ่งชอบ งานยิ่งหาคนงานยาก เขายิ่งชอบ เพราะ “เราทำได้”

เรียกว่า ทำได้ทุกอย่าง สมกับสโลแกนที่ตั้งไว้ว่า “All Solutions, One Outsources”อย่างแท้จริง

Avatar photo