Branding

เมื่อ ‘สิงห์’ ซื้อ ‘ซานตาเฟ่ สเต็ก’ ที่ได้มากกว่าสาขาคือ ‘โนวฮาว’

ถือเป็นข่าวใหญ่รับต้นสัปดาห์นี้ เมื่อ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ทุ่มเม็ดเงินกว่า 1,500 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น ซานตา เฟ่ สเต็ก จาก เลคเชอร์ แคปปิตอล หรือคิด้แป็นสัดส่วน 26% ในบริษัท เคที เรสทัวรองท์ ผู้บริหารร้านซานตา เฟ่ สเต็ก ในเมืองไทย โดยอีก 74% ยังคงถือครองโดย สุรชัย ชาญอนุเดช ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท

สิ่งที่น่าสนใจจากเคสนี้คือ ทำไมสิงห์ จึงสนใจธุรกิจ ซานตา เฟ่ สเต็ก และสิ่งที่ได้คืออะไร?

Santafe P02 01

แน่นอนว่า สิ่งที่สิงห์จะได้คือ การได้ธุรกิจร้านอาหารกลุ่มสเต็ก เข้ามาเสริมพอร์ตธุรกิจอาหารที่สิงห์ กำลังเดินเครื่องลุยบุกตลาดเต็มสูบอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้เป็นหนึ่งในขาธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้สิงห์ ควบคู่กับ 5 ธุรกิจหลัก

ปัจจุบัน ทั้ง 6 กลุ่มธุรกิจหลักของ สิงห์ ประกอบด้วย 1.การผลิตและจัดจำหน่ายเบียร์ น้ำดื่ม และโซดา ภายใต้บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด 2.การผลิตขวดแก้ว โดย บีซีจี กรุ๊ป 3.ธุรกิจการค้าในภูมิภาค โดย สิงห์ เอเชียโฮลดิ้ง 4.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ สิงห์ เอสเตท 5.ธุรกิจซัพพลายเชน โดย บุญรอดซัพพลายเชน และ 6.ธุรกิจอาหาร ภายใต้บริษัท ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส

สอดคล้องกับที่ ปิติ ภิรมย์ภักดี ผู้กุมบังเหียนกลุ่มธุรกิจอาหาร ภายใต้บริษัท ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส เคยกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า พร้อมขยายการเติบโตของกลุ่มอาหารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์เอง การซื้อกิจการ ไปจนถึงการร่วมทุน โดยกำเงินลงทุน 5,000 ล้านบาทเพื่อขยายธุรกิจ พร้อมวางเป้าหมายรายได้กลุ่มธุรกิจอาหารจะเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาทภายใน 3 ปีจากนี้

Santa Fe Steak menu 20

เห็นได้จากที่ผ่านมา สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ได้ใช้ทั้ง 3 กลยุทธ์มาแล้ว เพื่อขยายพอร์ตธุรกิจอาหาร ซึ่งแบรนด์ที่สร้างเองได้แก่ ร้านเอส 33 (Est.33) การสร้างแบรนด์ สิงห์ ปาร์ค, การร่วมทุนสำหรับ ฟาร์มดีไซน์ และ Kitaohji (คิตาโอจิ) จากญี่ปุ่น, ร้าน Star Chefs ที่ได้เชฟชุมพล แจ้งไพรเข้ามาเป็นพันธมิตร

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการร่วมทุนในอุตสาหกรรมต้นน้ำ อย่างเช่น บริษัท สิงห์-ซางโกะ จำกัด ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เฮสโก ฟู้ด อินดัสทรี่ จำกัด และบริษัท ซังโกะ เซกะ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนม Sambe (เซมเบ้) อบกรอบ ที่มียอดขายอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำธุรกิจขนมขบเคี้ยว, การร่วมทุนในบริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจซอสปรุงรสและอาหารพร้อมทาน และบริษัท มหาศาล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจข้าว ตราพันดี เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า กลยุทธ์การขยายธุรกิจกลุ่มอาหารของ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น เป็นการขยายตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำในการผลิต จนถึงโรงงานแปรรูป และอุตสาหกรรมปลายน้ำด้านช่องทางกระจายสินค้าไปถึงผู้บริโภค ซึ่ง ซานตา เฟ่ สเต็ก จะเข้ามาเติมเต็มในส่วนของอุตสาหกรรมปลายน้ำ และยังสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมต้นน้ำในเครือที่มี ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัตถุดิบจากไร่สิงห์ปาร์ค ใช้เครื่องปรุงรสจากเฮสโก้ ซอสจากซอสต็อด ข้าวจากพันดี ไปจนถึงน้ำ โซดา เบียร์ในเครือ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน รายได้หลักกว่า 1,000 ล้านบาท ของซานตา เฟ่ สเต็ก จะเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ที่ทำให้รายได้ของ ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส ก้าวกระโดดไปสู่เป้าหมายหมื่นล้านได้เร็วขึ้นแน่นอน

Santafe P01 01

เมื่อการร่วมทุน เป้าหมายนอกจากการต่อยอดธุรกิจให้เครือให้แข็งแกร่งและไปสู่เป้าหมายเร็วขึ้น อีกสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ การเรียนรู้โนวฮาวจากธุรกิจที่เข้าไปร่วมทุนหรือซื้อกิจการ เพราะเป็นวิธีการเรียนลัดที่ดี เช่นเดียวกับสิงห์ ที่จะเป็นโอกาสในการเรียนรู้ระบบการบริหารจัดการร้านอาหารที่มีสาขากว่า 110 สาขา ทั้งรูปแบบการขยายธุรกิจเองและขายแฟรนไชส์อย่าง ซานตา เฟ่ สเต็ก รวมไปถึงการบริหารบุคลากรหรือ คน ที่มีถึง 3,000 คน

ทั้งหมดนี้ สิงห์ย่อมสามารถเรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจร้านอาหารทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ เพราะปัจจุบันร้านอาหารในเครือสิงห์ เป็นร้านที่มีสาขาจำนวนไม่มาก และมีความแตกต่างกัน องค์ความรู้และการซินเนอร์จี้ทรัพยากรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถสร้างความได้เปรียบในอนาคต เพราะ สิงห์คงไม่หยุดอยู่แค่นี้แน่นอน

ปัจจุบัน รายได้กลุ่มธุรกิจอาหารของสิงห์ มาจาก สิงห์ปาร์ค และ บริษัท เฮกโก ฟู้ด โซลูชั่น ข้าวพันดี สร้างรายได้รวมประมาณ 2,500 ล้านบาท และธุรกิจร้านอาหาร 800-1,200 ล้านบาท

Avatar photo