COLUMNISTS

 มรดกจากวิกฤติต้มยำกุ้ง 

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
295

 วิกฤติต้มยำกุ้งยังเป็นที่จดจำของคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไปที่มีประสบการณ์ร่วม จากผลที่ตามมาจาการพังทลายของเศรษฐกิจในครั้งนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  

เรื่องราวของ อาเสี่ย กลายมาเป็นคนขายแซนด์วิช  ไก่ย่าง ล้างรถ  ฯลฯ เพื่อเอาตัวรอดยังเป็นเรื่องเล่าที่ถูกกล่าวถึงจนวันนี้ 

ทุกๆปี เมื่อวันที่ กรกฎาคม เวียนมาถึง สื่อสายเศรษฐกิจมักนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นเชื่อมโยงกับแนวโน้มวันข้างหน้า มานำเสนอ  คล้ายๆกับการระลึกวันผ่านศึกเศรษฐกิจ ของคนไทย    

 เช่นเดียวกันปีนี้  ปีที่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ของไทยเวียนมาถึง 21 ปี  แม้มีเหตุการณ์พาทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน เป็นข่าวใหญ่ที่คนทั้งโลกติดตาม   แต่สื่อหลายสำนักยังเปิดพื้นที่นำเสนอเรื่องราวระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น  ด้วยมุมข่าว ไม่หนีกัน และไม่ได้ต่างไปจากปีก่อนหน้า  

บทเรียนที่ได้จากวิกฤติครั้งนั้น  โอกาสที่จะเกิดวิกฤติซ้ำเช่นครั้งนั้น ยากเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแกร่งมาก ฯลฯ

  ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ผู้ทำหน้าที่เสมือนประธาน ระลึกวันวิกฤติต้มยำกุ้งเวียนมาถึง เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์แบงก์ชาติเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ยืนยันเศรษฐกิจไทยจะไม่ซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง  โดยยกข้อมูลเปรียบเทียบออกแสดงชุดใหญ่  เพื่อยืนยันว่าภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทยวันนี้ พัฒนาไปไกลแล้ว เช่น    

 1. ปีที่แล้ว ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด   11.2 % ต่อจีดีพี (ราว หมื่นล้านดอลลาร์)   ส่วนปีนี้คาดว่าจะเกินดุลฯราว   4  หมื่นล้าน ดอลลาร์ เทียบกับช่วงก่อนหน้าปี 2540 ที่ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องมาหลายปี  

  2. เงินสำรองระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีอยู่ราว 2.1 แสนล้านดอลลาร์  (ไม่รวมฐานะซื้อเงินตรา ต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิประมาณ 33 พันล้านดอลลาร์ ) มากพอเป็นกันชนรับมือความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุนโลก เป็นอย่างดี และมากกว่าหนี้ต่างประเทศโดยรวม 1.5 แสนล้านดอลลาร์ หรือ คิดเป็น 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

  3. หนี้ต่างประเทศโดยรวมอยู่ที่ 35% ของจีดีพี ลดลงจาก 70 % ของจีดีพีเมื่อปี 2540  

 กล่าวโดยสรุป ผู้ว่าการแบงก์ชาติ กำลังบอกว่า  ว่าเวลานี้สุขภาพเศรษฐกิจของเราเวลานี้ ดีเยี่ยม ภูมิคุ้มกันไม่ได้บกพร่อง เหมือนปี 2540  สามารถรับมือกับ โรคเศรษฐกิจ ได้สบายๆ  โอกาสที่จะเกิดวิกฤติอีก จนต้องพึ่งบริการไอเอ็มเอฟ ซ้ำเหมือนอาร์เจนตินา มีน้อยมาก

 นอกโชว์ชุดตัวเลขข้างต้นแล้ว ดร.วิรไท ยังได้ กล่าวด้วยว่า  หลังจากปี 2540 นโยบายการเงินของไทยเปลี่ยนมาใช้ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ควบคู่กับระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ซึ่งค่าเงินจะถูกกำหนดจากกลไกตลาด ไม่สร้างความบิดเบือนในระบบอัตราแลกเปลี่ยน และไม่สร้างผลข้างเคียงกับระบบเศรษฐกิจ เหมือนระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ในช่วงปี 2540

 ว่าไปแล้ว ……  นโยบายการเงิน ที่ ดร.วิรไท กล่าวถึง เปรียบไปก็เหมือนกับ   มรดกจากวิกฤติ 2540 ที่ตกทอดมาถึงคนไทยวันนี้   

นอกจากนี้ ยังมีองค์กรใหม่ๆ ที่เกิดจากการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งนั้นออกมาอีกจำนวนหนึ่ง มาทำหน้าที่เป็นกลไกป้องกันและลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอาทิ  อาทิ บริษัทข้อมูล เครดิตแห่งชาติ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ฯลฯ    

 ไม่เพียง นโยบายการเงินที่เปลี่ยนไป   ยังมี มรดกอีกชุดที่ส่งผ่านจากวิกฤติต้มยำกุ้งมาถึงปัจจุบันและส่งต่อระบบเศรษฐกิจไทยไม่แพ้กัน   คือ กฎหมาย 11 ฉบับ หรือ ชุดกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รัฐบาลชวนทำกับไอเอ็มเอฟ ตามข้อตกลง เข้าโปรแกรมและ รับการช่วยเหลือเงินกู้ 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5.5  แสนล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยนเวลานั้น) ที่รัฐบาลชวลิตตกลงเอาไว้ซึ่งบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2542 และไม่ค่อยถูกกล่าวถึงนักในวาระวันวิกฤติต้มยำกุ้งเวียนมาถึง   

 กฎหมายชุดนี้ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ. เช่าอสังหาริมทรัพย์การพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม  2. พรบ.อาคารชุด(ฉบับที่3)  3. พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน  4. พรบ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย  5. พรบ. ล้มละลาย (ฉบับที่5)  6. พรบ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว  7. พรบ.ประกันสังคม 8.พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่17)  9. พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับที่ 1810. พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และ 11. พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ

 หลักการของชุดกฎหมายข้างต้น คือเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนสะดวกขึ้น มีสิทธิครอบครองที่ดินเพื่อประกอบธุรกิจ  และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ศาลล้มละลายถูกจัดตั่งขึ้นตามกฎหมายข้างต้น  ซึ่งเป็นการปฏิรูปทางเศรษฐกิจกลายๆ และประเด็นให้ฝ่ายค้านเวลานั้นฉวยมาโจมตีรัฐบาลว่าเป็นกฎหมายขายชาติ   

 ในทางเทคนิควิกฤติต้มยำกุ้งถือว่าจบบริบูรณ์แล้ว เมื่อศาลฎีกายกฟ้อง เริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ 1.86 แสนล้านบาทเมื่อปี 2559 หลังคดียืดเยื้อมากว่า 15 ปี จากคดีที่แบงก์ชาติฟ้องอดีตผู้ว่าการฯแบงก์ชาติ  โทษฐาน ไม่รอบคอบพอในการนำสำรองระหว่างประเทศไปใช้ในสงครามเงินตรา                 

แต่ในทางปฏิบัติ  ผลพวงจากกฎหมาย 11 ฉบับ ที่เปิดตลาดให้ต่างชาติ ให้สิทธิในการถือครองอสังหาริมทรัพย์ ให้เสรีในการประกอบธุรกิจมากขึ้น ผนวกด้วยกฎหมายคุ้มครองสิทธิ ผลจากนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว รวมไปถึงผลที่ต่อระบบการค้า เมื่อบทบาทของกลุ่มทุนการเงินที่ได้รับผลกระทบจาก ลดลง  พร้อมกับถูกแทนที่ด้วยกลุ่มทุนอื่น  

ผลที่ตามมากจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ยังคงเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า วิกฤติต้มยำกุ้งจบแล้ว แต่ผลจากวิกฤติยังไม่จบ