World News

ถอดบทเรียน ‘เวเนซุเอลา’ นโยบาย ‘ประชานิยม-บิดเบือนตลาด’ ต้นเหตุเศรษฐกิจพัง?

นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นมา ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงได้ทำให้ชาวเวเนซุเอลาหลายล้านคน ตกอยู่ในภาวะยากจน ต้องอดอยาก และสิ้นหวัง ราว 54% ของเด็กในประเทศมีภาวะขาดอาหาร ทั้งประชาชนในประเทศยังต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ  อาชญากรรม อัตราการตาย และการย้ายออกนอกประเทศขนานใหญ่

v3

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามตามมาถึงสาเหตุที่ทำให้ ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยมีฐานะมั่งคั่งสุดของอเมริกาใต้ ตกอยู่ในสภาพสิ้นหวังอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

เฮนเคล การเซีย ยู นักเศรษฐศาสตร์เวเนซุเอลา บอกว่า ในปี 2541 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ “ฮูโก ชาเวซ” อดีตประธานาธิบดีเวเนซุเอลา จะขึ้นมามีอำนาจนั้น เวเนซุเอลา ยังมีฐานะร่ำรวยอยู่ จากน้ำมันดิบที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

original

ชาเวซ นักประชานิยมผู้ให้คำมั่นถึงการทำให้ประชาชนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ใช้ความได้เปรียบจากราคาน้ำมันโลกที่ค่อนข้างสูงในขณะนั้น ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ให้เงินสนับสนุนโครงการทางสังคมต่างๆ และนำเข้าสินค้าพื้นฐานอย่าง อาหาร และยา

แต่หลังจากที่ชาเวซใช้อำนาจยึดเปโตรเลออส เด เวเนซุเอลา ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของลาตินอเมริกา เมื่อปี 2546 ผลผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลาก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้การใช้จ่ายของรัฐบาลจะยังสูงขึ้นเรื่อยๆ

140201Venezuela

เมื่อเวลาผ่านไป ความไม่สมดุลระหว่างรายได้ และค่าใช้จ่ายส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งหมดของเวเนซุเอลา

ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาต้องทรุดหนัก ว่าเป็นผลพวงจากการบริหารที่เน้น “ประชานิยม” เป็นเวลานานตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีชาเวซ ไล่มาจนถึงสมัยประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร ผู้นำคนปัจจุบัน อีกทั้งรัฐบาลยังเข้าไปแทรกแซงตลาด บิดเบือนราคาสินค้ามาตลอด

ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เวเนซุเอลา มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 135.3% เป็นประเทศที่มีระดับเงินเฟ้อสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากซิมบับเว โดยในเดือนนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคของเวเนซุเอลา เพิ่มขึ้นมาถึง 65.2%

วิกฤติเวเนซุเอลา

เงินเฟ้อขั้นรุนแรง
ขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค
ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ ไม่มีน้ำสะอาดใช้
สงครามกลางเมือง คนเสียชีวิตจำนวนมาก
คนหนีตายออกนอกประเทศ

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟ ยังได้ออกมาปรับคาดการณ์เศรษฐกิจของเวเนซุเอลาในปีนี้ มาอยู่ที่หดตัว 35% เพิ่มขึ้นจากที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนเมษายนว่าจะหดตัวราว 25% ผลจากการดิ่งลงอย่างหนักของผลผลิตน้ำมัน ที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 70 ปีไปแล้ว

สถาบันบรูกคิงส์ กลุ่มวิจัยชั้นนำของสหรัฐ ออกรายงานที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับไอเอ็มเอฟว่า เวเนซุเอลากลายเป็นตัวแทนให้เห็นว่าการทุจริตของเจ้าหน้าที่ การบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด และการปกครองซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย สามารถนำไปสู่ความทรมานอย่างกว้างขวางได้อย่างไรอย่างแท้จริง

36730221 303

ในปี 2553 ชาเวซประกาศ “สงครามเศรษฐกิจ” เนื่องจากความขาดแคลนที่เพิ่มขึ้นในประเทศ วิกฤติดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นภายใต้รัฐบาลมาดูโร ผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ร่วงลงช่วงต้นปี 2558 และปริมาณการผลิตน้ำมันของประเทศที่ลดลง เนื่องจากขาดการบำรุงรักษาและการลงทุน

การหดตัวของจีดีพีประชาชาติ และต่อหัวในเวเนซุเอลาตั้งแต่ปี 2556–60 รุนแรงกว่าสมัยสหรัฐระหว่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือของรัสเซีย คิวบา และอัลเบเนียหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

วิกฤติดังกล่าวมีผลต่อชีวิตของชาวเวเนซุเอลาโดยเฉลี่ยทุกระดับ ในปี 2560 ความอดอยากรุนแรงถึงขั้นที่ประชากรเกือบ 75% ของประเทศมีน้ำหนักลดลงกว่า 8 กิโลกรัม เกือบ 90% ยากจน และกว่าครึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการอาหารขั้นพื้นฐาน นับตั้งแต่เริ่มวิกฤติจนถึงปี 2560 ชาวเวเนซุเอลากว่า 2.3 ล้านคนออกนอกประเทศ และเวเนซุเอลา กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าคนสูงสุดในโลก โดยมีผู้ถูกฆ่า 90 ต่อ 100,000 คนในปี 2558

105217130 Maduro Venezuela
นิโคลัส มาดูโร

การที่รัฐบาลไม่ยอมรับว่าเกิดปัญหาขึ้น และปราบปรามการคัดค้านอย่างรุนแรง นอกเหนือไปจากการคอร์รัปชัน การละเมิดสิทธิมนุษยชน และถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้ง  ทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านการปกครองของฝ่ายค้านนำโดย “ฮวน กุยโด” ที่ประกาศตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดี โดยมีสหรัฐหนุนหลัง เป็นสถานการณ์ที่ยิ่งทำให้ปัญหาในประเทศรุนแรงขึ้น และยังไม่วี่แววว่าจะแก้ไขได้ในเร็ววันนี้ 

Avatar photo