Business

‘บินไทย’ ลุยยกเครื่องโครงสร้างทางการเงิน ‘เอกนิติ’ หยอด! พร้อมช่วย ‘ถาวร’ กำกับนโยบาย

“บินไทย” ยกเครืื่อง “โครงสร้างทางการเงิน” ใหม่ หลังตัวเลขหนี้สินต่อทุนพุ่ง 8 เท่า พร้อมลุยฟื้นฟูผลประกอบการช่วง 3 เดือนสุดท้าย ก่อนปิดหีบปี 62 ด้าน “เอกนิติ” โปรยคำหวาน พร้อมช่วย “ถาวร” กำกับนโยบาย

700132

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยหลังนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหารการบินไทย วานนี้ (10 ต.ค.) ว่า ปี 2562 เป็นปีที่ที่ยากลำบากของการบินไทย เพราะบริษัทต้องเจอกับปัจจัยลบรอบด้าน ฉะนั้นฝ่ายบริหารจึงเร่งจัดทำแผนธุรกิจและแผนฟื้นฟูใหม่ เพื่อฟื้นฟูบริษัทให้ได้มากที่สุดในระยะสั้น ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2562 และค่อนข้างมั่นใจว่าจะดำเนินการตามแผนดังกล่าวได้

สำหรับแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ จะยึดโครงสร้างตามแผนฟื้นฟูฉบับเดิม เพียงแต่ต้องไปพิจารณารายละเอียดและวิธีการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะในช่วงที่จัดทำแผนฟื้นฟูฉบับเดิม ก็ยังไม่มีปัจจัยบางอย่างเกิดขึ้น เช่น เงินบาทแข็งค่า เป็นต้น

โดยในแผนธุรกิจและแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ จะมีการศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างธุรกิจและโครงสร้างทางการเงินของบริษัท ให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้นด้วย เพราะปัญหาของการบินไทยในขณะนี้คือ บริษัทมีส่วนทุนค่อนข้างต่ำ ทำให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ในระดับสูง เมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา การบินไทยมี D/E มากกว่า 8 เท่า  “มันสูงมากเกินไป” แม้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทจะลดหนี้สินระยะยาวไปแล้ว 4.6 หมื่นล้านบาทและไม่ได้ก่อหนี้ใหม่ก็ตาม

การบินไทย

อยู่แบบมีเสถียรภาพ

ดังนั้น การบินจึงต้องศึกษาการปรับโครงสร้างธุรกิจและการเงินใหม่เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เริ่มจากการปรับโครงสร้างธุรกิจก่อน จากนั้นจึงพิจารณาการถือทรัพย์สินให้เหมาะสม เพราะปัจจุบันการบินไทยอาจจะถือทรัพย์สินมากเกินไปหรือน้อยเกินไป โดยการลดการถือครองทรัพย์สิน ก็เป็นวิธีหนึ่งก็ช่วยลดหนี้และทำให้ส่วนทุนดีขึ้นได้ ฉะนั้นทรัพย์สินบางตัวที่ไม่มีความเหมาะสม ก็อาจจะปรับเปลี่ยนการใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท และต้องวางแผนลดหนี้สินระยะยาวอย่างเป็นระบบด้วย

จากนั้นก็มาพิจารณาว่า แหล่งทุนที่การบินไทยใช้อยู่เหมาะสมหรือไม่ เมื่อเทียบกับการแข่งขันและผลประกอบการขององค์กร ถ้าแหล่งทุนไม่เหมาะสม ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ส่วนการบินไทยจะต้องขอเพิ่มทุนหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ เพราะยังไม่มีความชัดเจนและเป็นเรื่องอ่อนไหว

“ถ้าเราอยากอยู่แบบมีเสถียรภาพ ก็มีความจำเป็นต้องพิจารณาโครงสร้างเงินทุนทั้งระบบของเรา ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะหารือกับคณะกรรมการและขอความเห็นชอบกับทางหน่วยงานกำกับ อย่างเช่น กระทรวงคมนาคมต่อไป” นายสุเมธ กล่าว

ภาพประกอบข่าว TG127 2

วางเป้าลดงบจัดซื้อจัดจ้าง 10%

สำหรับการฟื้นฟูองค์กรในส่วนของการเพิ่มรายได้นั้น บริษัทจะมุ่งจำหน่ายบัตรโดยสารให้ได้มากที่สุดในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High season) ที่จะถึงนี้ ด้วยการกลยุทธ์การตลาดแบบเฉพาะบุคคล (personal marketing) และการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) นอกจากนี้เตรียมเปิดตัวธุรกิจจำหน่ายสินค้าออนไลน์  (eCommerce) ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ในปลายเดือนนี้ พร้อมเพิ่มบริการเสริมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากบริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า (Ancillary Service) เช่น บริการเลือกที่นั่ง (Preferred Seats) ซึ่งล่าสุดสร้างรายได้มากถึง 20-30 ล้านบาทต่อเดือน

ในทางคู่ขนานกัน บริษัทจะเร่งบริหารต้นทุน ยกเลิกหรือเลื่อนค่าใช้จ่ายที่ยังไม่มีความจำเป็น รวมถึงจะหารือกับพนักงานให้ลดวันทำงานลง 1 วัน เพื่อลดต้นทุนค่าล่วงเวลา (OT) นอกจากนี้ตั้งเป้าหมายจะต่อรองคู่ค้าเพื่อขอลดมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างลง 10% แต่ต้องไม่กระทบต่อมาตรการฐานการบริการและความปลอดภัย  ปรับระบบจำหน่ายตั๋วโดยสารเป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง แต่ยืนยันว่าไม่ได้ลดความสำคัญของตัวแทนจำหน่ายตั๋ว (Agent)

สำหรับกรณีที่คณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยขอให้ฝ่ายบริหาร กลับไปทบทวนโครงการจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำภายใน 6 เดือนนั้น นายสุเมธ กล่าวว่า การบินไทยตั้งใจจะทบทวนโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หรือภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับปีงบประมาณ การวิเคราะห์ตลาด กำหนดแผนการดำเนินการ รายได้ ต้นทุน ผลประกอบการในภาพรวม

โดยการบินไทยต้องทบทวนโครงการดังกล่าว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านฝูงบินและเส้นทางบิน โดยเฉพาะเส้นทางที่ขาดทุนหรือมีการแข่งขันรุนแรง เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งสายการบินราคาประหยัดได้เปิดเส้นทางบินจำนวนมาก

ภาพประกอบข่าว TG185 3

“เอกนิติ” หยอด พร้อมช่วย “ถาวร” ดูแลบินไทย

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สาเหตุที่บอร์ดขอให้ฝ่ายบริหารกลับไปทบทวนโครงการจัดหาฝูงบิน 38 ลำ เพราะบอร์ดได้นำคำถามของนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อโครงการดังกล่าว มาพิจารณาอย่างละเอียด เมื่อฝ่ายจัดการตอบคำถามดังกล่าวได้ไม่ชัดเจน บอร์ดในฐานะผู้กลั่นกรองก็ยอมไม่ได้ เพราะบอร์ดมีหน้าที่ช่วยนายถาวร กำกับคุณภาพ ประเด็นนี้จึงเป็นที่มาของมติบอร์ด

ทั้งนี้ บอร์ดได้ให้การบินไทย ไปทบทวนโครงการจัดหาฝูงบินใน 2 ประเด็น คือ สมมุติฐานต่างๆ และฐานะทางการเงินของบริษัท เพื่อให้เกิดความรอบคอบที่สุด เนื่องจากโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อการบินไทยในระยะยาว

นอกจากนี้ บอร์ดพร้อมเป็นตัวแทนของนายถาวร ในการช่วยกำกับนโยบายต่างๆ และรายงานความคืบหน้าโครงการต่อนายถาวร ทุกๆ 6 เดือน ตามข้อสั่งการ

 “ตอนนี้มีปัจจัยใหม่ ทั้งเศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจไทยชะลอตัว เกิดสงครามการค้า โลกเปลี่ยนไป ถ้าเราปรับตัวไม่ทัน ถ้าเราดึงดันใช้สมมุติฐานแบบเดิม อาจจะเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด” นายเอกนิติ กล่าว

Avatar photo