Business

‘ซีพี’ตอบรับคำเชิญ! พร้อมเซ็นสัญญา ‘ไฮสปีด’ 25 ต.ค.นี้

“ซีพี” ตอบรับคำเชิญ “บอร์ดคัดเลือกฯ” พร้อมจรดปากกาลงนาม “ไฮสปีด” 25 ต.ค. นี้ ด้าน “อนุอีอีซี” ไฟเขียวแผนส่งมอบพื้นที่ แบ่งการเปิดวิ่งเป็น 2 เฟส

          fig 03 04 2019 13 36 55

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วันนี้ (10 ต.ค.) ว่า นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ว่าได้ประสานเรื่องวันลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไปยังกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) แล้ว โดย CPH แจ้งกลับมาอย่างไม่เป็นทางการว่า CPH พร้อมมาลงนามสัญญาตามคำเชิญของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในเวลา 14.00 น. วันที่ 25 ตุลาคม 2562

ศักดิ์สยาม44

สำหรับปัญหาเรื่องคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลาออก ส่งผลให้การลงนามสัญญาต้องลาช้าออกไปนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เรื่องนี้น่าจะแก้ไขได้ทันเวลาและไม่เป็นอุปสรรค เพราะล่าสุดกระทรวงการคลังได้เห็นชอบรายชื่อบอร์ดการรถไฟฯชุดใหม่ และส่งกลับมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว จากนั้นจะเสนอรายชื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 15 ตุลาคม 2562

เมื่อมีการแต่งตั้งบอร์ดการรถไฟฯ ชุดใหม่แล้ว บอร์ดก็น่าจะนัดประชุมทันที เพื่อรับทราบความคืบหน้าในการเจรจาและการลงนามสัญญาโครงการฯ รวมถึงต้องรายงานความคืบหน้าของโครงการฯ ให้ที่ประชุม ครม. รับทราบด้วยในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 จากนั้นการรถไฟฯ และ CPH จึงลงนามสัญญาในวันที่ 25 ตุลาคม 2562

สถานี ไฮสปีด รถไฟความเร็วสูง2

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบแผนการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และได้แต่งตั้งคณะทำงานส่งมอบพื้นที่ โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เพื่อช่วยการขับเคลื่อนการส่งมอบพื้นที่  โดยจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาต่อไป

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน สามารถดำเนินการได้แล้ว 72% โดยแบ่งการส่งมอบเป็น 3 ส่วนได้แก่

  1. สถานีพญาไท-สถานีสุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กิโลเมตร ของโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งพร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทันที
  2. สถานีสุวรรณภูมิ-สถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งคณะทำงานฯ จะสามารถส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 1 ปี 3 เดือน
  3. สถานีพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เวลาในการส่งมอบพื้นที่มากที่สุด 2 ปี 3 เดือน เพราะมีต้องมีการเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวง 8 หน่วยงาน

จากแผนการส่งมอบพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้การเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต้องแบ่งออกเป็น 2 เฟส คือ เฟสที่ 1 ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะเปิดบริการได้ก่อนในปี 2566-2567 และเฟสที่ 2 ช่วงสถานีพญาไท-ดอนเมือง เปิดให้บริการในปี 2567-2568

แผนที่แสดงสาธารณูปโภค 03

สำหรับแผนการส่งมอบที่ดิน ที่ผ่านมาได้มีปัญหา เพราะการก่อสร้างแบบเดิม ภาคเอกชน ต้องไปติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 หน่วยงาน  จึงต้องใช้เวลานาน และระยะเวลาไม่ชัดเจน  ส่งผลต่อแผนก่อสร้าง การประชุมครั้งนี้ จึงมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะทำให้การกำหนดระยะเวลา การก่อสร้างชัดเจน ยอมรับว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน  มีจุดตัดจำนวนมาก 230 จุด เกี่ยวข้องกับ  3 กระทรวง 8 หน่วยงาน ต้องปรับปรุงหรือโยกย้าย

โดยสิ่งก่อสร้างที่ต้องรื้อถอน มีทั้งท่ออุโมงค์ยักษ์ ของ กทม. ระบบท่อประปาขนาดใหญ่ ของ กปน.  ระบบท่อก๊าซ ของ ปตท.  ท่อน้ำมันยาว 4 กิโลเมตร  การรื้อเสาไฟฟ้าแรงสูง 230 จุด ของ กฟผ. ย้ายเสาไฟลงใต้ดินความยาว 4 กิโลเมตร ของ กฟน. จึงได้ใช้กฎหมายของอีอีซี ให้ 8 หน่วยงานทำงานร่วมกัน และจัดสรรงบประมาณรองรับการรื้อถอน ก่อสร้างหลักร้อยล้านบาทอยู่ในกรอบดำเนินการได้

Avatar photo