Business

‘บินไทย’ เสี่ยงขาดทุน 2 ปีซ้อน ‘ถาวร’ สั่งทำแผนฟื้นฟูให้เสร็จใน 1 เดือน

บินไทย” เสี่ยงติดลบ 2 ปีซ้อน “ถาวร” กระทุ้งทำแผนฟื้นฟูให้เสร็จภายใน 30 วัน รายงานผลประกอบการทุกเดือน ชี้ขาดทุน 2 หมื่นล้านบาทยัง “จิ๊บจ๊อย” ถ้าเทียบกับ Volume ธุรกิจ

S 91242499

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วันนี้ (10 ต.ค.) ว่า ตามที่บอร์ดการบินไทยมีมติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ให้ฝ่ายบริหารทบทวนโครงการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำและนำเรื่องกลับมาเสนอใหม่ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งพิจารณาแล้วว่า มติดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อผลประกอบการ รายได้ และการบริหารจัดการในบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับบริษัทมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องสะสม อีกทั้งการบริหารจัดการบริษัทยังสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนสะสมต่อเนื่องไปอีกในปี 2562 ถึงปี 2563

ตนในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการบินไทย จึงมีความห่วงใยและกังวลใจเป็นอย่างมาก จึงขอทราบข้อเท็จจริงและแนวทางการบริหารจัดการบริษัทจำนวน 6 ข้อ ดังนี้

1. ขอทราบผลประกอบการรายเดือน รวมทั้งให้บริษัทจัดทำแผนฟื้นฟูและแผนบริหารธุรกิจฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เนื่องจากปัจจุบันบริษัทอยู่ในภาวะขาดทุนสะสมต่อเนื่อง ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

2. ขอให้นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) การบินไทย รายงานความคืบหน้าของการทบทวนแผนการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ เป็นประจำทุกเดือนจนกว่าแผนจะแล้วเสร็จ

fig 15 08 2019 04 33 43

3. ขอทราบแผนการบริหารจัดการและโครงสร้างบริษัท เนื่องจากการบินไทยมีผู้บริหารเกษียณอายุราชการหลายตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเข้ามาดำรงตำแหน่งที่ว่างแต่อย่างใด แต่ให้ผู้บริหารที่มีอยู่รักษาการในตำแหน่ง ซึ่งการรักษาแทนบางตำแหน่งอาจะขัดต่อข้อกำหนดการรับรองของผู้ดำเนินการเดินอากาศตามมาตรฐานสากล หรือองค์กรการบินระหว่างประเทศ จึงขอให้พิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ รอบด้าน รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรจุผู้มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์บริหารงาน โดยยึดหลักธรรมาภิบาลเข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าว

สำหรับการแต่งตั้งผู้รักษาการแทน ซึ่งมีงานในตำแหน่งเดิมมากอยู่แล้ว อาจทำให้มีภาระมากขึ้น จนกระทบต่อผลประกอบการและประสิทธิภาพของบริษัท และกรณีบริษัทจะมีการจัดตั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลงหน่วยงานขึ้นมาใหม่ในบริษัท ก็ขอให้พิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน โดยใช้ค่าดัชนีชี้วัด (KPI) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกและภายในขององค์กร (SWOT) และผลประโยชน์ของบริษัทเป็นหลัก รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลในบริษัทให้คำนึงถึงระบบคุณธรรม (Merit System) ความโปร่งใส และเป็นผู้มีคุณสมบัติประจำตำแหน่งครบถ้วนด้วย

4. ขอทราบแผนการสำรองกระแสเงินสดและการเสริมสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท โดยต้องกำกับให้อยู่ในมาตรฐานความมั่นคงทางการเงินของบริษัทอย่างเคร่งครัด ตามมาตรฐานการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และให้บริษัทรายงานสภาพปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหา พร้อมสภาวะกระแสเงินสดให้ทราบเป็นประจำทุกเดือน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

การบินไทย

5. ขอให้รายงานความก้าวหน้าเรื่องการลงทุนของบริษัทในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ทุก 15 วัน โดยให้การดำเนินงานของบริษัทยึดตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาลโดยเคร่งครัด และให้เร่งหาข้อสรุปโดยเร็ว

6. ขอทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาในบริษัทที่ยังคงยืดเยื้อไม่เรียบร้อย และเป็นปัญหาเรื่องต้นทุน การหารายได้และผลประกอบการของบริษัท เช่น การเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ จากกรณีเครื่องบินต้องหยุดทำการบิน จอดรออะไหล่เป็นเวลานานจนเกิดความเสียหายและสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ และการจำหน่ายเครื่องบินที่ปลดระวางแล้วจำนวน 19 ลำ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เป็นต้น

ทั้งนี้ ขอให้ DD เสนอข้อความดังกล่าวให้บอร์ดรับทราบด้วยทุกคน เพื่อให้การบริหาร งานของบริษัทเป็นไปในแนวทางเป้าหมายและบรรจุวัตถุประสงค์เดียวกัน ทำให้การบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติกลับมามีกำไร มีความมั่นคงและยั่งยืน

“แม้ผลประกอบการจะขาดทุนอยู่บ้าง แต่ตั้งปี 2503 จนถึงวันนี้ก็ 59 ปีแล้ว เราทำกำไรมาตลอด พนักงานเราจ่ายภาษีให้กับรัฐเยอะ บริษัทนำส่งรายได้เข้ารัฐ การขาดทุนแค่ 20,000 กว่าล้านบาทถือว่าจิ๊บจ๊อยมาก ถ้าเทียบกับ volume ของธุรกิจ ไม่มีปัญหา แก้ไขได้ แต่ต้องจริงจัง” นายถาวรกล่าว

Avatar photo