Economics

‘สนค.’ ยัน ‘สงครามการค้า’ ไม่กระทบไทย ส่วนแบ่งตลาดสหรัฐ-จีนยังเพิ่ม

กระทรวงพาณิชย์ เปิดผลวิเคราะห์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนต่อการค้าไทย พบมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ตลาด พร้อมเปิดโพยสินค้าที่ส่งออกได้ดี สามารถทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐ และทดแทนสินค้าสหรัฐในจีน มีกว่า 26 รายการ แนะไทยเร่งส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ให้ได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มยอดส่งออกโค้งสุดท้ายของปี

ตราสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ สรุปสถานการณ์ และผลกระทบสงครามการค้าต่อการส่งออกครึ่งปี 2562 และโอกาสส่งออกสินค้าศักยภาพหลังมาตรการภาษีมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา พบว่า ไทยยังสามารถรักษาและขยายส่วนแบ่งตลาดทั้งในสหรัฐ และจีนได้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่มีส่วนแบ่งตลาดลดลง แสดงให้เห็นว่าสินค้าไทยยังมีขีดความสามารถในการส่งออก ท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังไม่ชัดเจน และมีความผันผวนสูง

จากการติดตามผลกระทบของสงครามการค้า พบว่า สหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนลดลงจากสัดส่วน 20.51% ในช่วง 6 เดือนของปี 2561 เหลือ 18.02% ในช่วงเดียวกันปีนี้ โดยประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดสหรัฐลดลง ได้แก่ แคนาดา เยอรมนี มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้น ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป (อียู)  อินเดีย เวียดนาม ไต้หวัน และไทย โดยมีสัดส่วนเพิ่มจาก 1.27% เป็น 1.31%

ส่วนจีน นำเข้าจากสหรัฐลดลงจากสัดส่วน 8.17% เหลือ 6.04% ในช่วง 6 เดือนของปี 2562 โดยประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดจีนลดลง ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดจีนเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เยอรมนี บราซิล มาเลเซีย รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และไทย โดยมีสัดส่วนเพิ่มจาก 2.12% เป็น 2.23%

สำหรับสินค้าของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกทดแทนในตลาดสหรัฐ และจีน ภายใต้มาตรการตอบโต้ที่สหรัฐ ขึ้นภาษีจีน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ และจีนตอบโต้สหรัฐ มูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว พบว่า สินค้าไทยที่ส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐได้เพิ่มขึ้น เช่น ปลานิลแช่แข็ง กุ้งและปลาหมึกแช่แข็ง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ที่ไม่ใช่น้ำผักและผลไม้) แผงวงจรรวม สื่อเก็บข้อมูลแบบจานแม่เหล็ก น้ำมันเครื่อง น้ำมันหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภค และสินค้าที่ไทยส่งออกไปทดแทนสินค้าสหรัฐในตลาดจีน เช่น น้ำแอปเปิ้ล น้ำผึ้ง แป้ง ผงที่ทำจากพืช กระดาษแข็ง ฝาพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์โทรศัพท์ เครื่องแก้วสำหรับใช้ในครัว อุปกรณ์ติดตั้งสำหรับเฟอร์นิเจอร์

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสินค้าข้างต้น ยังมีกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกทดแทนสินค้าจากจีนในตลาดสหรัฐ และทดแทนสินค้าสหรัฐ ในจีนเพิ่มเติมอีก ภายใต้มาตรการใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้

108204610 dkfyuyur

สินค้าไทยที่มีโอกาสส่งออกทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐ เช่น มะพร้าว ขิง ทุเรียน ลูกกอล์ฟ เลนส์แว่นตา เครื่องซักผ้า ชุดชั้นในสตรี พืชมีชีวิตและต้นไม้ (กล้วยไม้) และสินค้าที่มีศักยภาพส่งออกทดแทนสินค้าสหรัฐในจีน เช่น ผลิตภัณฑ์นมและครีม ขนมที่ทำจากน้ำตาล (ที่ไม่มีโกโก้ผสม) ยางนอกชนิดอัดลม และเอสเซนต์เชียลบาล์ม

ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะสำหรับผู้ส่งออกไทย ควรจะเร่งขยายการส่งออกสินค้าที่สามารถทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ และทดแทนสินค้าสหรัฐในจีนให้ได้เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยผลักดันการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ และควรจะใช้โอกาสนี้ในการดึงดูดทุนสหรัฐ กรณีที่จะมีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังไทย

ปัจจุบัน มาตรการตอบโต้ทางการค้าที่มีผลบังคับใช้แล้ว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.8 แสนล้านดอลลาร์ เป็นส่วนที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน มูลค่า 3.83 แสนล้านดอลลาร์  คิดเป็น 68% ของการนำเข้าจากจีน และจีนขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐ มูลค่าประมาณ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 60% ของการนำเข้าจากสหรัฐ

หากตอบโต้กันเต็มรูปแบบตามกำหนดเดิมวันที่ 15 ธันวาคมนี้ สหรัฐจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนมูลค่า 5.4 แสนล้านดอลลาร์ หรือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐนำเข้าจากจีน ยกเว้นสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคงของประเทศ เช่น ยาและเวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์แร่และเคมีภัณฑ์ยางชนิด โลหะ เครื่องจักรกลสำหรับการเคลื่อนย้าย ขนส่ง อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์ ที่นั่งสำหรับเด็ก

ส่วนกลุ่มสินค้าที่จีนจะขึ้นภาษีสหรัฐมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 63% ของการนำเข้าจากสหรัฐ โดยมีสินค้าที่จะไม่ขึ้นภาษี เช่น ผลิตภัณฑ์แร่และเคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ไฟฟ้า และอากาศยานและส่วนประกอบ

Avatar photo