Business

“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร”เบียดสิงห์ดำนั่งซีอีโอปตท.

 16 มีนาคม 2561 คณะกรรมการบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT  เป็นการประชุมครั้งที่3ของปี2561 ถือว่ามีความสำคัญมากเพราะมีการเสนอชื่อผู้เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ปตท. หรือซีอีโอ แทน เทวินทร์ วงศ์วานิช  กำลังจะพ้นวาระสิ้นเดือนสิงหาคม 2561

Chansin

การประชุมบอร์ดปตท.วันนั้น วาระการพิจารณาอนุมัติตำแหน่งซีอีโอปตท.คนใหม่ ดูเหมือนมีการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมนานร่วมๆชั่วโมง กรรมการบางคนถึงกับเสนอความคิดพร้อมๆกับให้ บันทึกรายงานการประชุมในความเห็น นั่นหมายถึงข้อคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยและยังมีข้อกังขาบางอย่างเกี่ยวกับการเสนอชื่อให้ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ดำรงตำแหน่งซีอีโอปตท.คนใหม่

การเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอปตท.ของ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร  มีระยะเวลาไม่มากนักเพียงแค่ 1ปี 8 เดือน หากเทียบกับซีอีโอปตท.คนอื่นๆ ดูเหมือนเป็นคนที่มีเวลาสั้นมาก เพราะ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร จะมีอายุครบ60ปีบริบูรณ์ ในวันที่12พฤษภาคม2563 นั่นเอง

โค่นตัวเต็งขึ้นแท่นซีอีโอปตท.

ชื่อชาญศิลป์ ตรีนุชกร โผล่ขึ้นแท่นซีอีโอปตท.คนใหม่ อาจจะทำให้ผู้คนจำนวนมากคาดไม่ถึงและอาจจะไม่ได้อยู่ในโผของการได้รับคัดเลือกมาตั้งแต่ต้น เพราะตลอดระยะเวลาที่มีกระบวนการสรรหามักมีชื่อของวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซ ธรรมชาติ และ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และรักษาการแทนรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปรากฏตามหน้าสื่อเสียมากกว่า

จริงๆหากย้อนกลับไปตั้งแต่ที่บอร์ดปตท.มีมติให้เปิดสรรหาซีอีโอปตท.คนใหม่ ก็น่าจะเป็นตัวบางชี้ได้ว่าซิอีโอปตท.คนใหม่คือใคร เริ่มจากการเปิดสรรหาที่เร็วขึ้นกว่าทุกๆครั้งอย่างน้อย3 เดือน นั่นหมายถึงว่าหากเปิดสรรหาโดยใช้เงื่อนไขปกติอาจจะเป็นเหตุทำให้ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ไม่สามารถเข้าร่วมวงสมัครได้ ก็เพราะ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร  เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2503 หากเลยวันเกิดไปแล้วไม่อาจจะร่วมวงได้ นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องเปิดสรรหาซีอีโอปตท.เร็วขึ้น

ชาญศิลป์คนใกล้ชิดไพรินทร์

ประเด็นถัดมา ชาญศิลป์ ตรีนุชกร เรียกว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตซีอีโอปตท. และช่วงที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการไออาร์พีซี  จึงไม่แปลกใจหากใครจะพูดว่าสองคนนี้ใกล้ชิดกัน  ถือเป็นเรื่องปกติ และยิ่งยุคนี้ที่ไพรินทร์  ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่ใครต่อใครเกิดคำถามมากมายมาได้อย่างไร

หลังจากชาญศิลป์ ตรีนุชกร  ม้ามืดก้าวขึ้นแท่นนั่งซีอีโอปตท.คนใหม่ มีทั้งข้อกังขาและผู้ร่วมแสดงความยินดี ข้อกังขาที่พูดกันมากนั่นคือชายญศิลป์ ตรีนุชกร มีความเกี่ยวข้องกับคดีปาล์มอินโดนีเซียจริงหรือไม่ เป็นผู้ถูกกล่าวหาจากคณะกรรมการป้องกันและปรายปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)จริงหรือไม่  เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสรรหาฯ ที่มี

fig 21 03 2018 11 19 02

การันตีคุณสมบัติครบถ้วน

พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธาน ได้พิจารณาคุณสมบัติของ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ตามกฎหมายแล้ว และตามข้อมูลที่ ปตท.ได้รับทราบ   พบว่า ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ไม่ได้เป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยคณะกรรมการป.ป.ช.  กรณีการลงทุนในธุรกิจปาล์มน้ำมันอินโดนีเซียตามที่มีข่าวจึงเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการ เป็นกรรมการผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

เรื่องนี้แม้แต่ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการบริษัท ปตท. กล่าวว่า บอร์ด ปตท.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท .เป็นผู้ที่เหมาะสม ดำรงตำแหน่งซีอีโอปตท.คนต่อไป ฉะนั้นข้อสงสัยกรณีธุรกิจปาล์มอินโดนีเซียก็น่าจะคลายกังวลได้ระดับหนึ่ง

เกมท้าทายสิงห์แดงคุมปตท.

หากวิเคราะห์จากสายสัมพันธ์เรียกว่าเกิดปรากฎการณ์ใหม่ขึ้นก็ว่าได้ ที่ซีอีโอปตท.ยุคนี้เกิดจาก สิงห์แดง  (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ )ไม่ใช่ สิงห์ดำ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ) อย่างที่เคยเป็นมา เรียกง่ายๆว่า โค่นสิงห์ดำ  เมื่อเกิดปรากฎการณ์อย่างนี้ย่อมทำให้ใครต่อใครเกิดคำถามในใจว่าปตท.ยุคต่อไปนี้จะเกิดอะไรขึ้น การบริหารงานจะเป็นอย่างไร จะมีการ ล้างบาง อย่างที่มีการตั้งข้อสังเกตกันหรือไม่   ตรงนี้กำลังกลายเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

ฉะนั้นวันที่ 31สิงหาคม 2561 เป็นวันเริ่มปฎิบัติการทำงานเต็มตัวของ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอปตท.คนใหม่  ยังมีงานท้าทายอยู่ไม่น้อย นอกเหนือจากการบริหารบุคลากรแล้ว โจทย์ใหญ่ทำอย่างไรที่จะให้ธุรกิจของปตท.เติบโตและยั่งยืน และอยู่ภายใต้ความสมดุลและไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมากจนเกินไป เช่นเดียวกับการแข่งขันของธุรกิจ

ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยผลประกอบการของปตท. ปี 2560 ว่ามีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 1.559 ล้านล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 74,552 ล้านบาท และเมื่อรับรู้ผลกำไรของบริษัทในกลุ่มตามสัดส่วนการ  ถือหุ้นอีก 60,628 ล้านบาท ทำให้งบการเงินรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 1.996 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.1%)  มีกำไรสุทธิรวม 135,180 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน  42.9%) คิดเป็นกำไร 46.74 บาทต่อหุ้น

ประสบการณ์ไม่ธรรมดา

หากย้อนดูจากประวัติการทำงานที่ผ่านมาเรียกว่าไม่ธรรมดา ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผ่านประสบการณ์การทำงานมามากมาย ปี2554-2556 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจท่าเรือและบริหารจัดการทรัพย์สิน บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

ปี2556-2557 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายพาณิชย์กิจและการตลาดบริษัทไออาร์พีซี

ปี2557-2558 ประธานกรรมการบริษัทปตท.กรีนเอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย)จำกัด

ปี2557-2558 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)

ปี2558 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปี2559-2560 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

ปี2560 ประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริหารความยั่งยืนบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ยังเป็นกรรมการอยู่อีกหลายบริษัทอย่างเช่น บริษัทไออาร์พีซี โพลีออล จำกัด ,บริษัทเทคโนโลยี ออาร์พีซี จำกัด ,บริษัทระยองอะเชททิลีน จำกัด ,บริษัทพีทีทีโพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด ,บริษัทอูเบะ เคมิคอลส์ (เอเชีย)จำกัด (มหาชน) ,บริษัทพีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ,บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ยังได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี2558 โดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ,รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2560 โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น หลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ผู้บริหาร รุ่นที่ 1 กรมกิจการพลเรือนทหารบกปี2561

Avatar photo