CEO INSIGHT

‘พอลล์ กาญจนพาสน์’ กับธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม ‘เรียนรู้เพื่อต่อยอด’

จากเป้าหมายรายได้สร้างธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในเครือ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ให้ไต่ระดับถึง 3,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปีจากนี้ โดยปี 2562 (ปีงบประมาณ 1 เมษายน 2561-31 มีนาคม 2562) คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า อิมแพ็คฯ ต้องดันรายได้ของธุรกิจกลุ่มนี้ ให้เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัวจากปัจจุบัน

พอลล์
พอลล์ กาญจนพาสน์

นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า การจะสร้างยอดขายให้ได้ 3,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี อยู่ในแพลนที่วางไว้แล้ว และไม่ใช่ยอดขายเท่านั้นแต่ต้องมีผลกำไรด้วย โดยยอดขายที่จะเพิ่มมา 2,000 ล้านบาท จะมาจากการขยายธุรกิจในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาร้านอาหารแบรนด์ที่มีอยู่เดิม การเพิ่มร้านอาหารแบรนด์ใหม่ ไปจนถึงการขยายธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน ร้านอาหารในเครืออิมแพค มีรวมประมาณ 30 สาขา จากร้านอาหารญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ “สึโบฮาจิ” (Tsubohachi), อิโต-คาโจ, ไทโช-เต ราเม, ร้านอาหารจีน ฮ่องกง ฟิชเชอร์แมน, ฮ่องกง คาเฟ่, ฮ่องกง สุกี้, ร้านอาหารไทยมโนราห์, ร้านอาหารบิสโตร เดอ แชมเปญ, เทอราซซ่า, ฟลานโอเบรียนส์ไอริช ผับ, ร้านอาหารเมนูเส้น นู้ดเดิ้ล เนชั่น และร้านอีส คาเฟ่

ล่าสุด อิมแพ็คฯ ได้ซื้อแฟรนไชส์ร้านกาแฟชื่อดังจากฮ่องกง “เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์” มาเสริมพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ เพื่อให้ก้าวเดินไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น

ฮ่องกง

ในส่วนของการขยายธุรกิจใหม่ๆ นั้น พอลล์ บอกว่า จะเป็นการต่อยอดจากทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อสร้างได้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นที่จะดำเนินการในปีหน้าคือ การขยายไปสู่ธุรกิจรับผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ของผู้ประกอบการรายอื่น หรือ โออีเอ็ม ซึ่งจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่อิมแพ็คฯ มีอยู่แล้ว นั่นคือ ครัวกลาง อุปกรณ์การประกอบการอาหาร ตลอดจนบุคลากร เช่น เชฟ ซึ่งจะลดต้นทุนได้อย่างมาก แต่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่

“ตอนนี้ เราใช้ครัวกลางและทรัพยากรที่มี ผลิตสินค้าป้อนให้กับธุรกิจในเครืออิมแพ็ค เช่น ผลิตติ่มซำในโนโวเทลในอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งก้าวต่อไปคือ การรับจ้างผลิตให้กับผู้ประกอบการทั้งร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจจัดเลี้ยง หรือกลุ่มแคเธอริ่ง รวมถึงผู้ที่สนใจสร้างแบรนด์ตัวเอง นอกเครืออิมแพ็ค”

พอลล์ เล่าว่า ยกตัวอย่างปัจจุบันครัวกลางที่มีอยู่ ใช้งานเพียง 10 ชั่วโมง ทั้งที่อุปกรณ์ต่างๆ สามารถใช้งานได้ถึง 20 ชั่วโมง หากใช้งานได้เต็มที่จะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว สิ่งที่ต้องจ้างเพิ่มจะมีเพียงจ้างเชฟเพิ่ม เป็นต้นและทรัพยากรที่มีอยู่ อย่าง บุคลากร เชฟ ยังสามารถหมุนเวียนไปทำงานได้หลากหลาย จึงถือเป็นการเพิ่มศักยภาพตลอดจนเพิ่มรายได้ใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของจิ๊กซอว์ในการต่อเติมเป้าหมายรายได้ที่วางไว้

Tsubohachi

นอกจากนี้ การที่บริษัทซื้อแฟรนไชส์ธุรกิจร้านอาหารที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น หรือล่าสุดร้านกาแฟพิเศษ สเปเชียลตี้ คาเฟ่ นอกจากเพื่อขยายธุรกิจเสริมพอร์ตโฟลิโอแล้ว สิ่งที่ได้กลับมายังมีค่าสำหรับอิมแพ็คฯ ในการต่อยอดธุรกิจต่อไปได้อีก นั่นคือ การเรียนรู้โนว์ฮาว เทคโนโลยี ตลอดจนระบบบริหารจัดการของร้านที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ซึ่งร้านอาหารหรือเครื่องดื่มแต่ละประเภท แต่ละแบรนด์ มีประสบการณ์และความชำนาญที่แตกต่างกัน

เมื่อ อิมแพ็คฯ เรียนรู้ จากนั้นคือ การนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจที่มีอยู่ หรือเป็นต้นแบบสำหรับธุรกิจใหม่ๆ ที่จะขยายต่อไป ซึ่ง พอลล์ บอกชัดเจนว่า เป็นการ “เรียนลัด” ที่ดีและเห็นผลเร็ว

ตัวอย่างเช่น แฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น สิ่งที่เรียนรู้คือ ความสะอาด อนามัย และการดูแลจัดการวัดถุดิบของสดที่มีมาตรฐานสูงมาก เช่น ปลาแซลมอน ต้องมีมาตรฐานความสดตามเกณฑ์ของร้าน ขณะที่ร้านกาแฟ เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ มีความโดดเด่นมากมาย นอกจากกาแฟพิเศษแล้ว ยังมีระบบการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานสูงมาก การเล่นกับโซเชียลมีเดีย การทำการตลาด ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการเรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้ รวมไปถึงการมองโอกาสขยายร้านอาหารใหม่ของตัวเอง จากประสบการณ์ที่เรียนรู้มา

349756 1

“เราอยากมีร้านอาหารของเราเอง ที่นำสิ่งที่สั่งสม เรียนรู้ มาปรับใช้ได้” พอลล์กล่าวปิดท้าย

จะเห็นได้ว่า เป้าหมายที่วางไว้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าหนักใจสำหรับผู้บริหารอิมแพ็คฯ เพราะเส้นทางที่ก้าวเดินมา มีการวางแผนชัดเจน และมองเห็นโอกาสที่จะทำให้เป้าหมายบรรลุผลได้ตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้

Avatar photo