CEO INSIGHT

‘ฤทธิ์ ธีระโกเมน’ เจ้าตำนาน ‘เอ็มเค’ ถึงวันนี้ ‘เราขายอะไรก็ได้’

นับแต่วันแรกในปี 2529 ที่ร้านเอ็มเค สุกี้ เปิดสาขาแรกในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว และเข้าจดทะเบียนภายใต้ชื่อบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ในปี 2532 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท จนถึงวันนี้ เอ็มเคได้แตกไลน์ขยายธุรกิจร้านอาหารออกไปมากมายหลากหลายแบรนด์ โดยมีจำนวนร้านอาหารทุกแบรนด์ในเครือรวมกว่า 700 สาขา สร้างรายได้แตะ 1.8 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน

Resize MK Suki 1

จนถึง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 ธุรกิจร้านอาหารในเครือ เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ประกอบด้วย ร้านเอ็มเค สุกี้ อยู่ทั้งหมด 448 สาขาทั่วประเทศ (รวมร้านเอ็มเค โกลด์ 6 สาขา และเอ็มเค ไลฟ์ 4 สาขา) ร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ 184 สาขา ร้านอาหารญี่ปุ่นฮากาตะ 4 สาขา ร้านมิยาซากิ 26 สาขา ร้านอาหารไทย เลอ สยาม 3 สาขา ร้านอาหารไทย ณ สยาม 1 สาขา ร้านข้าวกล่อง บิซซี่ บ็อกซ์ 4 สาขา ร้าน ขนมหวาน เอ็มเค ฮาร์เวสต์ 1 สาขา และร้านกาแฟ/เบเกอรี่ เลอ เพอทิท 3 สาขา นอกจากนี้ ยังขายแฟรนไชส์ร้านเอ็มเค สุกี้ ให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารในประเทศสิงคโปร์

ภาพทั้งหมดนี้ ต้องยอมรับว่า เกิดจากวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ “ฤทธิ์ ธีระโกเมนประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งวันนี้ในวัย 68 ปี ยังคงเป็นผู้กุมบังเหียนทิศทางธุรกิจของ เอ็มเค กรุ๊ป เพราะแม้จะอยากวางมือก็ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่มีผู้ที่พร้อมเข้ามาสืบทอดการดูแลกิจการ และยังต้องใช้เวลาสร้างผู้บริหารที่สามารถเข้ามาบริหารงานแทนอีกอย่างน้อย 5 ปี

ฤทธิ์ เปิดใจถึงภาพของเอ็มเค ด้วยคำสั้นๆ แต่สะท้อนชัดเจนถึงการทำงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันว่า ถึงวันนี้ และต่อไปนี้ว่า “เอ็มเค เราจะขายอะไรก็ได้”

ฤทธิ์ ธีระโฏเมน MK
ฤทธิ์ ธีระโกเมน

คำกล่าวนี้ นอกจากจะบอกถึงความพร้อมของเอ็มเค กรุ๊ป ที่สั่งสมประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหารมานานถึง 32 ปี มีความเป็นมืออาชีพทั้งด้านบุคลากร ระบบงาน การบริหาร คลังสินค้า หน้าร้านฯลฯ ที่สามารถต่อยอดขายธุรกิจที่มีศักยภาพแล้ว ยังบอกได้ถึงเป้าหมายในอนาคตของเอ็มเค กรุ๊ป ว่าพร้อมที่จะลงทุนในธุรกิจร้านอาหารประเภทใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ความพร้อมที่มีอยู่

อย่างล่าสุดที่ เอ็มเค เข้าซื้อหุ้นใหญ่ 65% ในแหลมเจริญซีฟู้ด ด้วยเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ก็ผ่านการคิดอย่างรอบคอบถี่ถ้วน และอยู่ในกรอบเดิมคือธุรกิจร้านอาหาร โดยมองว่า แหลมเจริญเป็นไทยซีฟู้ด ที่มีศักยภาพขยายธุรกิจได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ใช้เวลาเจรจานานเป็นปี ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ วัฒนธรรมองค์กรตรงกัน ซึ่งแหลมเจริญมีครบถ้วน และยังมีสาขาถึง 26 สาขา จึงเป็นการโตแบบ “เรียนลัด

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ความพร้อมที่ เอ็มเค มีในทุกด้าน พัฒนาการเติบโตของแหลมเจริญซีฟู้ด ได้ชนิดติดสปริงบอร์ด อีกด้วย จากที่ผ่านมา แหลมเจริญซีฟู้ด โตแบบธรรมชาติ เมื่อมีระบบเข้ามาช่วยสนับสนุนจะทำให้โตได้ด้วยกลไกทางการตลาดซึ่งจะรวดเร็วและยั่งยืนมากกว่า ด้วยการซินเนอร์จี้กันในทุกด้าน

แหลมเจริญ

“ความยากของ แหลมเจริญซีฟู้ด คือ เป็นอาหารทะเล เป็นของสด ที่ต้องมีระบบการจัดการที่ดี สำหรับคนอื่นอาจจะยาก แต่สำหรับเราไม่ยาก เพราะเรามีพร้อมอยู่แล้ว”

นั่นคือ การมีคลังสินค้าแบบเย็น หรือ โคลด์ เชน โลจิสติกส์ ที่ดำเนินการโดยบริษัทในเครือ คือ เอ็ม-เซ็นโค โลจิสติกส์ ที่ใช้งบลงทุนถึง 1,750 ล้านบาท สำหรับรองรับธุรกิจร้านอาหารในเครือเอ็มเค รวมถึงสร้างรายได้จากการบริการธุรกิจร้านอาหารจากผู้ประกอบการรายอื่นด้วย

ฤทธิ์ ยังกล่าวถึงแนวทางการขยายธุรกิจของเครือเอ็มเค ว่า จะทำได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแบรนด์ใหม่เอง, การร่วมทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ. การซื้อแฟรนไชส์มาบริหาร ไปจนถึงการซื้อกิจการอย่างกรณีของแหลมเจริญ

ขณะเดียวกัน ยังมีช่องว่างทางธุรกิจมากมาย ที่เอ็มเคพร้อมขยับขยาย เพียงแต่รอโอกาสและจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งทุกวันนี้ เอ็มเค เตรียมความพร้อมรองรับทั้งโอกาสและวิกฤต นั่นคือ การพร้อมรับโอกาสด้วยการเตรียมเงินสำหรับลงทุนและรอธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามา ส่วนวิกฤตก็มีการเตรียมพร้อมเพื่อหากเกิดวิกฤต จะทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง ดำเนินธุรกิจด้วยเงินสด ไม่กู้เงิน รวมถึงการทำประกันทุกประเภทสำหรับธุรกิจ

มิยาซากิ

ในวันนี้ แม้ว่าธุรกิจร้านอาหาร จะมีคู่แข่งมากมาย ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ แต่ ฤทธิ์ พร้อมเปิดประตูรับคู่แข่งเข้ามาในตลาด เพราะมองในแง่บวกว่า จะเข้ามาช่วยกันสร้างตลาดรวมให้เติบโต ให้คนออกมาทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น เพราะมีทางเลือกมากมาย และเอ็มเคเอง ก็ต้องมีความหลากหลายของร้านอาหารไว้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า

สำหรับความท้าทายสำคัญ ที่เอ็มเค ต้องเผชิญในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ซึ่งเป็นโจทย์ที่จะต้องมองว่า ดิจิทัลจะเข้ามาดิสรัปกับธุรกิจอาหารอย่างไรบ้าง ซึ่งหากมองในตัวของอาหาร ดิจิทัลคงไม่สามารถเข้ามากระทบได้ อาหารยังต้องใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ แต่สิ่งที่ต้องปรับคือ วิธีการ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้ตอบสนองและสร้างประสบการณ์ลูกค้าได้ดีที่สุด

ดังนั้น สิ่งที่เอ็มเค ทำคือ มีอะไรใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ จะซื้อมาทดลองใช้ ถือว่าเป็น คาแรคเตอร์ของเอ็มเคก็ว่าได้ ที่จะมีอะไรใหม่ๆ มาใช้ในร้าน ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหารด้วยแท็บเล็ต การใช้เครื่องทอนเงินอัตโนมัติที่เริ่มทดลองแล้วประมาณ 10-20 สาขา การตั้งเป้าว่าภายในปีนี้ ทุกสาขาของเอ็มเค สุกี้จะไม่มีเมนูที่เป็นกระดาษ เพราะเปลี่ยนวิธีสั่งผ่านคอมพิวเตอร์ได้ด้วยตัวเองบนโต๊ะอาหาร เป็นต้น

ฤทธิ์ ธีระโกเมน 1

อีกเทคโนโลยีที่เอ็มเคกำลังก้าวไปคือ เอไอ เพื่อนำข้อมูลของลูกค้ามาพัฒนาต่อยอดเป็นการตลาดแบบเฉพาะบุคคล หรือ เพอร์ซันนอลไลซ์ มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารที่อยากทานได้ทุกเวลา และทุกที่ที่สะดวก

ฤทธิ์ ปิดท้ายว่า ผมอยากถอยไปเป็นที่ปรึกษา ตอนนี้ผมน่าจะเป็นซีอีโอที่เป็นเหมือนซามูไรคนสุดท้าย เพราะเป็นมา 30 ปีแล้ว ปัญหาคือ ถอยไม่ได้ เพราะ ณ ขณะนี้ ยังไม่มีใครที่จะเข้ามาดูแลแทนได้ เนื่องจากคนที่จะเข้ามาสานต่อในตำแหน่งนี้ ต้องมีความรู้ในทุกเรื่อง แต่ปัจจุบัน ผู้บริหารของเอ็มเค ยังทำงานเป็นฟังก์ชันนอล หรือทำงานกันแต่ละด้าน ทำให้ไม่รู้ทุกด้าน จึงอยู่ระหว่างการพัฒนาซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปีนับจากนี้

เชื่อแน่ว่า ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ เมื่อฤทธิ์ยังคงกุมนโยบายและทิศทาง เอ็มเค กรุ๊ป จะมีแบรนด์ใหม่ๆ และก้าวรุกใหม่ๆ ออกมาให้เห็นอีกมากแน่นอน

 

Avatar photo