Business

‘ศักดิ์สยาม’ ตอกกลับ ‘เจ้าสัวซีพี’ เงื่อนไขกำหนดเอกชนต้องรับความเสี่ยง ‘ไฮสปีด’ เอง

“ศักดิ์สยาม” ตอกกลับ “เจ้าสัวซีพี” เงื่อนไขการประมูลกำหนดเอกชนต้องรับความเสี่ยง “ไฮสปีด” เอง ยืนยันเอกชนไม่มาลงนาม 15 ต.ค. นี้ มีสิทธิ์โดนแบล็คลิสต์ตามระเบียบราชการ

ธนินท์ เจียรนนท์ CP ซีพี
ขอบคุณภาพจาก cp-enews.com

จากกรณีที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) กล่าวว่าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องมูลค่า 2.2 แสนล้านบาท เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงเป็นการลงทุนในรูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) จึงไม่ควรให้เอกชนรับความเสี่ยงแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ภาครัฐก็ยินดีทำงานร่วมกับเอกชน เพราะโครงการนี้เป็นรูปแบบ PPP แต่ทั้งหมดก็ต้องไปดูเงื่อนไขตามเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุน (RFP) ด้วยว่า ให้รัฐบาลทำอะไรได้บ้าง “ถ้าเราทำอะไรใน RFP ได้ เราทำให้หมด”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลได้ดำเนินการตาม RFP อย่างเต็มที่แล้วใช่หรือไม่ นายศักดิ์สยามตอบว่า “ผมว่าในกฎหมายเราทำได้แค่นั้นนะ เราทำอะไรนอกกฎหมายได้ไหม?

จากนั้นผู้สื่อข่าวสอบถามต่อว่า กรณีที่นายธนินท์ออกมาพูดเรื่องดังกล่าวจะเป็นการสั่นคลอนความเชื่อมั่นหรือไม่ เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการสำคัญของประเทศ นายศักดิ์ศยามได้ตอบว่านายธนินท์มีสิทธิ์แสดงความเห็น โดยภาครัฐก็ต้องนำความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวมาดูข้อกฎหมายและ RFP ว่าดำเนินการได้ไหม ถ้าทำให้ได้ ก็จะดำเนินการ ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องไม่รู้จะดำเนินการอย่างไร “ความเป็นรัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติภายในกฎหมาย เราไม่สามารถจะทำอย่างอื่น”

675921

ทั้งนี้ ใน RFP ก็ระบุว่าผู้ประกวดราคาต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงของโครงการเอง โดยข้อ 50.1 เขียนไว้ว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอจึงต้องมีหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดที่ตั้งของโครงการฯ สภาพแวดล้อม และรายละเอียดที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการด้วยตัวเอง … โดยผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องรับภาระความเสี่ยง รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสภาพสถานีที่ตั้งของโครงการด้วยตัวเองทั้งสิ้น …”

สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟความเร็วสูง ไม่สามารถขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) กิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ได้ แม้ว่า CPH จะไม่มาลงนามสัญญาภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 เพราะโครงการดังกล่าวเป็นรูปแบบ PPP ไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐตามปกตินั้น

นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบ RFP ข้อ 56.3 ได้เขียนไว้ว่า “…สำหรับผู้ที่ได้รับคัดเลือก ซึ่งไม่ไปทำสัญญาภายในเวลาที่กำหนด จะถูกริบหลักประกันซอง หรือถูกเรียกร้องจากผู้ออกหลักประกันซองทันที และอาจะพิจารณาให้ชดเชยความเสียหายอื่น (ถ้ามี) รวมทั้งอาจพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้ การคืนหลักประกันซองไม่ว่าในกรณีใดๆ จะคืนให้โดยไม่มีดอกเบี้ย”

รถไฟ ไฮสปีด จีน

นายศักดิ์สยาม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินต่อว่า ล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธาน ได้ดำเนินการส่งหนังสือเชิญ CPH มาลงนามสัญญาในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ระหว่างเวลา 13.30-16.30 น. และ CPH ได้รับหนังสือเชิญดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ในเวลา 11.00 น. โดยถ้าหาก CPH ไม่มาลงนามสัญญาตามคำเชิญ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็จะดำเนินการตาม RFP ต่อไป

ขณะเดียวกันในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 นี้ คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้นัดหารือเป็นครั้งแรก โดยที่ประชุมฯ จะติดตามความพร้อมของโครงการลงทุนต่างๆ ใน EEC รวมถึงแผนการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วย

Avatar photo