Economics

รอรับได้เลย! เตรียมโอนตรงเบี้ย ‘ผู้สูงอายุ-คนพิการ’ 2 จังหวัด พ.ย.นี้

“กรมบัญชีกลาง” เตรียมโอนตรงเบี้ย “ผู้สูงอายุ-คนพิการ” พื้นที่ จ.สมุทรสงคราม-อุทัยธานี พ.ย.นี้ ก่อนทยอยครบ 76 จังหวัดภายใน ม.ค. 63

ภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข3

นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2563 กรมบัญชีกลางยังคงเดินหน้าดำเนินงานตามนโยบายภายใต้โครงการ National e-Payment ภาครัฐ โดยจะขยายการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ โดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้มีสิทธิ์โดยตรง จากเดิมเคยจ่ายให้กับผู้มีสิทธิ์ในเขตกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และสิงห์บุรี และจะจ่ายให้กับผู้มีสิทธิ์ใน จ.สมุทรสงคราม และอุทัยธานี เดือนพฤศจิกายน 2562 จากนั้นจะเริ่มทยอยจ่ายต่อไปจนครบ 76 จังหวัด ภายในเดือนมกราคม 2563

นอกจากนี้ ยังคงดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ล่าสุดวันที่ 1 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา (ค่าประปาไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน และค่าไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน) เริ่มต่ออายุตั้งแต่ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 และมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระ โดยจะจ่ายเงินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว 5% เข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ให้แก่ผู้มีสิทธิ์ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่เกิน 500 บาท/คน/เดือน เริ่มต่ออายุตั้งแต่พฤศจิกายน 2562 – กันยายน 2563

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางมีเป้าหมายที่จะพัฒนาการดำเนินงานด้านต่าง ๆ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยการปฏิบัติงานให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น อาทิ การเปลี่ยนมาใช้ระบบ New GFMIS Thai เพื่อให้การบริหารการเงินการคลังภาครัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสามารถสรุปข้อมูลเป็นรายวัน (จากเดิมสรุปเป็นรายสัปดาห์) มีช่องทางการเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ (Interface) มากกว่าเดิม และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบงานได้มากขึ้น โดยจะเริ่มระบบ New GFMIS Thai กับ 5 หน่วยงานนำร่องเดือนพฤษภาคม 2563 อีกทั้งยังพัฒนาระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ หรือ e-Payment Portal of Government ซึ่งเป็นระบบงานเบ็ดเสร็จสำหรับการรับและนำเงินส่งคลังของหน่วยงานของรัฐ ครอบคลุมการทำธุรกรรมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และภาครัฐกับภาคประชาชน เช่น การจ่ายค่าปรับ ค่าเช่า ค่าใบรับรอง ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต โดยไม่จำเป็นต้องมาติดต่อที่ส่วนราชการด้วยตนเองอีกต่อไป เพียงเข้ามาทำธุรกรรมผ่านทางเว็บไซต์ก็สามารถออกใบแจ้งการชำระเงิน (Bill Payment) และนำไปชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เคาน์เตอร์ธนาคาร เคาน์เตอร์เซอร์วิส ATM Internet Banking หรือชำระเงินออนไลน์ผ่านระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากขึ้น และเดือนธันวาคม 2562 จะมีการลงนามข้อตกลง MOU ร่วมกับบริษัทเคาน์เตอร์เซอร์วิส เพื่อขยายช่องทางการชำระเงินให้สะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าปี 2563 กรมบัญชีกลางจะสั่งการให้ส่วนราชการดำเนินการรับเงินและนำเงินส่งคลังผ่านระบบการรับชำระเงินกลางได้ทั้งหมด รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงการคลังในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Block chain) มาช่วยในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) โดยนำมาช่วยในเรื่องความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบที่มาของการทำธุรกรรมได้ เนื่องจากสามารถนำมาใช้ตรวจสอบหนังสือค้ำประกันที่ผู้ค้าภาครัฐยื่นต่อหน่วยงานภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที

“กรมบัญชีกลางพร้อมที่จะก้าวสู่ปีที่ 130 อย่างยั่งยืน โดยจะมุ่งพัฒนาผลการดำเนินงานตามค่านิยมของกรมบัญชีกลาง “ซื่อสัตย์ โปร่งใส บริการด้วยใจ รักษาวินัยการคลัง รวมพลังพันธมิตร มีหลักคิดพัฒนา” เพื่อให้การบริหารการเงินการคลังของแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว

Avatar photo