Economics

‘มาเลย์’ แซงไทย เปิดศักราชเสรีแอลเอ็นจี ไฟเขียวการไฟฟ้าฯ นำเข้าล็อตแรก

มาเลเซียแซงหน้าไทยอีก เปิดศักราชเสรีกิจการแอลเอ็นจี เดินหน้าทดสอบระบบ TPA ไฟเขียวการไฟฟ้ามาเลเซีย นำเข้าแอลเอ็นจีล็อตแรกแล้ว 72,000 ตัน ส่งก๊าซฯผ่านโครงข่ายท่อส่งก๊าซฯ ใช้ในโรงไฟฟ้า 2 โรง 

C2047709 44DB 468F ABF5 DE6F8C4EAA5F

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า การไฟฟ้าแห่งชาติมาเลเซีย (Tenaga Nasional Berhad:TNB) ได้ฤกษ์นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อทดสอบระบบการเปิดให้บุคคลภายนอกใช้โครงข่ายท่อก๊าซฯแอลเอ็นจี หรือ TPA (Third Party Access) เพื่อป้อนให้กับ 2 โรงไฟฟ้าของ TNB เอง จากเดิมที่มีปิโตรนาสเพียงรายเดียวที่จัดหาแอลเอ็นจีในมาเลเซีย

ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าตวนกูจาฟาร์  และโรงไฟฟ้าคอนนอตบริดจ์ เพื่อผลิตไฟฟ้าได้เป็นเวลา 14 วัน และเป็นการนำเข้าโดยราคาก๊าซฯ ต่ำกว่าราคาควบคุมในมาเลเซีย ซึ่งบริษัทเชื้อเพลิงการไฟฟ้าแห่งชาติมาเลเซีย (TNBF )ซึ่งถือหุ้นทั้งหมดโดยการไฟฟ้ามาเลเซีย ได้ลงนามซื้อขายก๊าซฯกับ TNB และ TNB Connaught Sdn Bhd เพื่อส่งก๊าซจากเรือลำเรือนี้

ก๊าซฯทั้งหมด 3.5 ล้านล้านบีทียู หรือ 72,000 ตัน ประมาณ 1 ลำเรือ จะถูกส่งให้โรงไฟฟ้าตวนกูจาฟาร์ ขนาดกำลังผลิต 1,500 เมกะวัตต์  และโรงไฟฟ้าคอนนอตบริดจ์ ขนาดกำลังผลิต 832 เมกะวัตต์ โดยก๊าซฯ จากเรือลำแรกนี้ จะถูกส่งให้กับโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงของ TNB ผลิตไฟฟ้าได้เป็นเวลา 14 วัน ด้วยปริมาณเฉลี่ยวันละ 270,000 กิกะจูล

วัตถุประสงค์หลักของในการนำเข้าแอลเอ็นจีครั้งแรกนี้ มาเลเซียดำเนินการ เพื่อทดสอบระบบ TPA โดยผ่านสถานีแปลงสภาพแอลเอ็นจีให้เป็นก๊าซฯที่เมืองมะละกา และส่งผ่านเครือข่ายท่อก๊าซฯที่บริษัทปิโตรนาส เป็นเจ้าของ

“ทุกวันนี้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดนำเข้าแอลเอ็นจี หรือ ส่งก๊าซฯไปให้กับภาคผลิตไฟฟ้า นอกจากปิโตรนาสซึ่งเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียว “

มาเลเซีย มีกฎหมายการจัดหาก๊าซในปี  2536 ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2559 มีผลเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 เพื่อให้มีกรอบทางกฎหมายอนุญาตให้บุคคลที่สาม สามารถเข้าใช้ระบบท่อก๊าซฯ ที่ดำเนินการหรือเป็นเจ้าของโดยผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดหนึ่ง

โดยมาเลเซียเอง ถือว่าระบบ TPA เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การแข่งขันอย่างสมบูรณ์ และที่สุดแล้วจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ ในเรื่องการขนส่งและบริการที่มีคุณภาพ และเป็นทางเลือกที่เพิ่มเติมขึ้นในการจัดหาสำหรับผู้บริโภค

การลงนามสัญญาจัดหาก๊าซ (GSA)เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่่ผ่านมานั้น ถือเป็นการเปิดศักราชของมาเลเซีย ในการนำ TPA มาใช้ โดย TNBF ได้ลงนามสัญญาขายหลัก (Master Sale Agreement: MSA) กับบริษัทเชลล์ มาเลเซีย เทรดดิ้ง (Shell Malaysia Trading Sdn Bhd :SMTSB) ) เพื่อใช้เรือขนส่งแอลเอ็นจี

แถลงการณ์ระบุว่า ความร่วมมือระหว่าง TNBF และ SWTSB ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ในด้านพลังงาน  “จะเป็นการสร้างประสบการณ์และบริหารความท้าทายร่วมกันในการทดสอบระบบ TPA เป็นครั้งแรกในประเทศมาเลเซีย และส่งผลให้เกิดการประหยัดต้นทุนที่แท้จริงในมุมมองของการส่งราคาก๊าซ ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดที่กำหนดโดยรัฐบาล

นาย อะเมอร์ ฮัมซา อะซิซาน  ซีอีโอ TNB  กล่าวว่า ข้อตกลงนี้ได้เน้นถึงความมุ่งมั่นของ TNB ในการส่งเสริมและสนับสนุนตลาดการค้าก๊าซฯเสรีในประเทศมาเลเซีย

“การดำเนินการนำร่องในครั้งนี้ยังเป็นการแบ่งปันความรู้ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการสร้างขีดความสามารถให้กับทุกภาคส่วน และยังเป็นการสะท้อนการทำงานในระบบ TPA ให้กับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานของมาเลเซีย”

เขายังเชื่อว่าจะเป็นการส่งสัญญาณให้กับผู้บริการแอลเอ็นจีทั่วโลกให้เห็นว่า TNB เอาจริงเอาจังกับการก้าวเข้าสู่ธุรกิจจัดหาจัดซื้อแอลเอ็นจีแล้ว

ขณะที่ นายชายราน ฮูซานิ ฮูเซน ผู้จัดการ SMTSB กล่าวว่า ภูมิใจมากที่เป็นส่วนหนึ่ง สำหรับการนำเข้าแอลเอ็นจีภายใต้กรอบ TPA

“เชลล์เป็นบริษัททางด้านพลังงานที่ได้รับความไว้วางใจในมาเลเซียมากกว่า 125 ปี และกำลังมองหาการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเดิม และหุ้นส่วนใหม่ เพื่อสร้างความสำเร็จในอนาคต ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งที่การไฟฟ้ามาเลเซีย และปิโตรนาสร่วมมือ และประสบความสำเร็จในการดำเนินการครั้งนี้ ”

ทั้งนี้ TNBF เป็นผู้จัดหา และจัดส่งถ่านหิน และเชื้อเพลิงหลายหลัก ให้กับ TNB และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ TNB ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางให้บริการจัดหาเชื้อเพลิงทุกชนิดเบ็ดเสร็จให้กับโรงไฟฟ้าต่างๆในรูปแบบไม่แสวงหากำไร โดยเงินส่วนที่ประหยัดได้จากการจัดซื้อเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพจะถูกส่งผ่านไปให้ TNB และในทีสุดจะสะท้อนกลับมาในค่าไฟฟ้าที่คิดกับผู้บริโภค

สำหรับโครงข่ายท่อก๊าซฯของปิโตรนาส บนคาบสมุทรมาเลเซีย นั้น เรือบรรทุกแอลเอ็นจีจะมาเทียบท่า Regasification Terminal (RGT) ของปิโตรนาส ซึ่งของไทยเรียกว่า FSRU (Floating Storage and Regasification Unit) ห่างจากชายฝั่ง 3 กม. ส่งก๊าซฯมาทางท่อใต้ทะเล และท่อบนบกระยะทางประมาณ 33 กม. มาเชื่อมกับท่อก๊าซฯบนคาบสมุทร

โรงไฟฟ้า 2 โรง คือ โรงไฟฟ้าตวนกูจาฟาร์ และ โรงไฟฟ้าคอนนอทบริดจ์ จะส่งผ่านโครงข่ายนี้ รวมถึงยังเป็นเส้นทางขนส่งก๊าซฯ ไปยังโรงไฟฟ้าในสิงคโปร์ 2 แห่ง ทั้ง Senoko Energy และ Keppel Gas ด้วย

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานของไทย ระบุว่า สำหรับการทดสอบนำเข้าแอลเอ็นจีผ่านระบบ TPA ของไทยรองรับการเปิดเสรีกิจการก๊าซฯ  โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ทดลองนำเข้าล็อตแรก ไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากนโยบายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นยุคของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดทางให้กฟผ.นำเข้าแอลเอ็นจีสัญญา 8 ปี จำนวน  1.5 ล้านตัน มูลค่าหลักแสนล้านบาท เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ. มีกระบวนการเปิดประมูลแบบนานาชาติ และได้ผู้ชนะประมูลคือปิโตรนาสเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

แต่มาถึงปลายยุคดร.ศิริ การนำเข้ามีอุปสรรคจากสาเหตุที่ยังเป็นที่กังขา จนมีการล้มประมูลในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานกบง.ในวันนั้น โดยเปลี่ยนให้กฟผ.ทดสอบระบบ TPA ด้วยการนำเข้าแบบสัญญาระยะสั้นในตลาดจร (spot) 2 ลำเรือ 180,000 ตัน จากวันนั้นผ่านมาเดือนเศษ ยังไม่มีความก้าวหน้า กฟผ.ยังสามารถดำเนินการนำเข้าได้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight