COLUMNISTS

‘จีน’ ผงาดเหนือ ‘ประเทศทุนนิยม’ ได้อย่างไร

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
3716

จีนจัดงานครบรอบ 70 ปี ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา นอกจากขบวนพาเหรดโชว์แสนยานุภาพทางทหาร ผ่านพลับพลา เทียนอันเหมิน ที่สี จิ้นผิง พร้อมด้วยเจียง เจ๋อหมิน และ หู จิ่นเทา อดีตประธานาธิบดีคนที่ 3 และ 4 ตามลำดับ ที่ร่วมสร้างประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ ยืนรับความเคารพ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากภาคส่วนต่างๆ แล้ว จีนยังสื่อสารถึงความสำเร็จในการสร้างชาติอย่างมั่นใจสุดๆ ด้วยว่า เป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ลุกขึ้นมาร่ำรวย แข็งแกร่ง ที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้เวลาหลายร้อยปีจึงจะทำได้

000 1KW5KX

ข้อความดังกล่าวไม่เกินจริงเพราะจีนใช้เวลาเพียง 40 ปีนับจาก เติ้ง เสี่ยว ผิง อดีตประธานาธิบดี ผู้นำรุ่นสอง ประกาศเปลี่ยนทิศทางประเทศด้วยหลักคิดใหม่ เปิดประตูสู่โลกกว้าง จากเดิมในยุค เหมา เจ๋อตุง ที่ปิดประเทศยึดนโยบายหันหลังให้โลก ไม่คบค้าสมาคมกับใคร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ สุดท้ายผลผลิตไม่พอเลี้ยงประชากร คนจีนยุคนั้นยากจนและอดยากมาก คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่มีประสบการณ์ส่งเงิน หรือสิ่งของไปจุนเจือญาติที่อยู่ในจีนแดงตามคำเรียกยุคนั้น เพื่อบรรเทาความแร้นแค้นทั้งสิ้น

หากหลัง เติ้ง เสี่ยว ผิง แง้มม่านไม่ไผ่ นำประเทศด้วย นโยบาย 4 ทันสมัย ใช้ระบบตลาดขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เปิดช่องให้ประชาชนมีสิทธิถือครองทรัพย์สินตามสมควร คู่ขนานไปกับ ระบอบสังคมนิยม จีนสามารถพลิกโฉมจากประเทศเกษตรกรรมล้าหลัง ผงาดขึ้นมาเป็น ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจลำดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา มีเทคโนโลยีล้ำหน้า สามารถส่งจรวดไปดวงจันทร์ ครอบครองมิสไซล์ นิวเคลียร์ข้ามทวีป ขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของนวัตกรรมไอที จนโลกตะวันตกต้องหาทางสกัด

ในทางเศรษฐกิจ จีนมาไกลมาก จีดีพีเมื่อ 70 ปีที่แล้ว (2492) มีเพียง 30,000 ล้านดอลลาร์ แต่ปี 2562 จีดีพีของจีนอยู่ที่ 13.6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวกว่า 450 เท่า 

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ระหว่างปี 2556-2561 เศรษฐกิจจีนขยายตัวมากกว่า 7 % ทุกปี ขณะที่เศรษฐกิจโลกในช่วงเวลาดังกล่าวขยายตัวเฉลี่ย 2.7 %

190715 china economy

ห่วงโซ่การผลิตจีนสมบูรณ์ที่สุด ผลิตภัณฑ์เพื่อการอุตสาหกรรมมากกว่า 220 รายการ ถูกจัดให้เป็นอันดับหนึ่งของโลก รถไฟความเร็วสูงมีระยะทางยาวที่สุดในโลก บริษัทจีน 129 รายติดกลุ่ม 500 บริษัทชั้นนำโลก จากการจัดอันดับของฟอร์จูน ฯลฯ

โฉมหน้าใหม่ของจีนเปลี่ยนความคิดที่เคยเชื่อกันว่าประเทศสังคมนิยม เศรษฐกิจมักฝืดเคือง และห่างไกลจากความทันสมัยไปอย่างสิ้นเชิง

เบื้องหลังความสำเร็จ วิสัยทัศน์ของ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้รับการสานต่อจากผู้นำรุ่นต่อๆ มา ส่วนด้านเศรษฐกิจนับเป็นกุญแจดอกสำคัญของความสำเร็จทางการเมือง

ด้านเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า ค่าแรงต่ำ ค่าเงินหยวนอ่อน ทำให้สินค้าจีนราคาถูก สามารถบุกตีตลาดไปทั่วโลก เงินลงทุนต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาเพื่อหวังผลตอบแทนจากตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ของจีน และเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้จีนมีเงินตราต่างประเทศเหลือเฟือ

เงื่อนไขบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีสำหรับบริษัทบริษัทที่เข้ามาลงทุนในจีน และการซื้อเทคโนโลยีมาต่อยอด ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีจีน และเปลี่ยนจาก นักก็อปปี้ระดับโลก ที่ปลอมตั้งแต่สินค้าแฟชั่นไปถึงเครื่องจักรขนาดใหญ่ ไปเป็น เจ้าของ ผู้ส่งออกเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ชั้นนำ การส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงเป็นตัวอย่างหนึ่ง

จีนยังมีความฝันต่อ สี จิ้นผิง ผู้นำคนปัจจุบัน ประกาศขับเคลื่อนจีนไปสู่ยุคสมัยใหม่ด้วยหลักคิด สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์อย่างจีน ภายใต้เป้าหมาย “สองเป้าหมายในรอบ 100 ปี “ และ ยุทธศาสตร์ 2 ก้าว คือประเทศจีนจะสร้าง สังคมกินดีอย่างครบถ้วนภายในปี 2563 สร้างสังคมนิยมทันสมัยในปี 2573 และจะก้าวสู่ประเทศสังคมนิยมที่มีความแข็งแกร่ง มั่งคั่ง ประชาธิปไตย อารยธรรม และสงบสุขในช่วงกลางศตวรรษนี้ หรืออีกประมาณ 30 ปีนับจากนี้

เป้าหมายใหม่ดังกล่าวคือความท้าทายอีกครั้งของจีน ที่โลกจับตา