Economics

กฟผ.ผันสู่ธุรกิจ ‘Solution Provider’ ครบวงจร ทดแทนกำลังผลิตลด

กฟผ.ผันสู่ธุรกิจ Solution Provider ครบวงจร สร้างรายได้ทดแทนกำลังผลิตไฟฟ้าลดลง  พร้อมตามติดเทรนด์เทคโนโลยี กันตกยุค

IMG 20191001 095605

ภาคเอกชนกำลังมีบทบาทมากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ทั้งเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) รายเล็ก (เอสพีพี) และรายเล็กมาก (วีเอสพีพี) รวมถึงที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองตามโรงงานบ้านเรือนต่างๆ รวมไปถึงการผลิตไฟฟ้าใช้เองของชุมชน ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเหลือเพียง 36% ใกล้เคียงไอพีพี ที่มีสัดส่วน 35%

ทำให้กฟผ.ต้องปรับตัว จากผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวมาเป็น Solution Provider รับเป็นที่ปรึกษาบริหารจัดการพลังงาน มีแพคเกจให้เลือกหลายรูปแบบพร้อมนำเสนอลูกค้า แบบให้คำปรึกษาอย่างเดียว ,จ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) หรือเฉพาะงานวิศวกรรม ลูกค้าชอบใจจะติดตั้งพลังงานแบบไหน กฟผ.ก็พร้อมจัดให้ และกำลังขยายธุรกิจนี้เป็นเรื่องเป็นราวในอนาคต

ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. ระบุว่า ตอนนี้ธุรกิจ Solution Provider ก็มีลูกค้าเข้ามาแล้ว เช่น บริษัทกสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ให้เราบริหารจัดการพลังงานให้ที่อาคารสำนักงานใหญ่ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และ นิคมฯปิ่นทอง รวมถึงหานวัตกรรมใหม่ๆมาเพิ่มทางเลือกให้

ขณะเดียวกันเราก็ตามติดเทคโนโลยีและระบบใหม่ๆ เช่น ระบบ Peer to Peer Energy Trading หรือการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้โดยตรงผ่าน Smart Grid  เพื่อให้อนาคตผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองสามารถขายไฟฟ้าระหว่างกันเองได้

โดยขณะนี้ทดสอบระบบกับบ้านจัดสรร 3-4 หลัง ที่อยู่ในโครงการบริเวณใกล้เคียงกันย่านแจ้งวัฒนะ  โดย กฟผ.มีความร่วมมือกับ 3 โครงการบ้านจัดสรร ประกอบด้วย โครงการชัยพฤกษ์-แจ้งวัฒนะ ของ บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) โครงการบางกอกบูเลอวาร์ด บริษัท เอสซี เอสเอท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และโครงการคาซา พรีเมี่ยม ราชพฤกษ์-แจ้งวัฒนะ ของ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้เรายังทำข้อตกลงกับสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโครงการศรีแสงธรรมโมเดล ของโรงเรียนศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี ทั้ง 3 โครงการใช้เวลาประมาณ 3 ปี งบลงทุนรวม 20 ล้านบาท หากไปได้ดีจะขยายผลต่อ ผลที่จะได้รับก็คือ จะทำให้เรามีนวัตกรรมที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ ไม่ต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทั้งนี้ทั้ง 3  โครงการ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดสอบระบบกับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นอกจากนี้ยังเข้าร่วมโครงการพัฒนา Smart City กับจังหวัดนนทบุรี ด้วย

“เราพยายามตามติด และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อไม่ให้ถูก disrupt  และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากทางอื่นๆเพราะสัดสวนการขายไฟฟ้าของเราลดลง โดยปัจจุบันมีรายได้จากธุรกิจอื่นแล้ว 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปีและกำลังเพิ่มขึ้น ” 

Avatar photo