Politics

‘กรมสุขภาพจิต’แนะสื่ออย่าใช้คำถามจี้อารมณ์เด็กติดถ้ำ!!

br
ภาพจากเฟซบุ๊ค นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงความคืบหน้าของการดูแลจิตใจครอบครัวและทีมหมูป่าทั้ง 13 คนที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนว่า ต้องขอแสดงความชื่นชมทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมแรงร่วมใจในการปฏิบัติการครั้งนี้ โดยเฉพาะสื่อมวลชนทุกแขนงที่ทำบทบาทเป็นสื่อกลางช่วยกันนำเสนอข่าววิกฤติ อันนำมาสู่ความช่วยเหลือจากทั่วประเทศและทั่วโลก สามารถก้าวผ่านวิกฤติได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเด็กๆ และโค้ชที่ได้รับการช่วยเหลือออกมายังอยู่ในช่วงที่ต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจอีกช่วงเวลาหนึ่งตามแผนที่ทุกฝ่ายได้เตรียมการรองรับไว้

อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตเป็นห่วงเรื่องความสนใจในการติดตามข่าว ตลอดจนการทำข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของสภาพจิตใจของเด็กได้โดยไม่ได้ตั้งใจ จึงร่วมกับสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยจัดทำคำแนะนำแนวทางการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยของสื่อมวลชนทุกแขนงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำเติมทางจิตใจ (retraumatization) ของทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีซึ่งจะช่วยให้การฟื้นตัวก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้สามารถกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวโดยเร็ว และกลับสู่โรงเรียนและเล่นกีฬาได้ตามปกติ

สำหรับการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยหลังจากนี้ แนะนำให้ยึดแนวทาง 2 ประการ คือ ควรทำหลังจากที่ผู้ประสบภัยได้พักและได้รับการปลอบใจจากครอบครัวเป็นส่วนตัวจนสภาพร่างกายและจิตใจฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ก่อน และในการสัมภาษณ์ควรมุ่งไปที่มุมมองด้านบวก เช่น วิธีปลุกปลอบใจกัน ให้กำลังใจกันในกลุ่ม วิธีการสร้างความหวังให้ตัวเองและเพื่อน ซึ่งจะทำให้ผู้เล่าเกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จของตัวเองและเพื่อน ๆ จะส่งผลให้จิตใจฟื้นตัวได้รวดเร็วและส่งผลไปถึงทางการฟื้นตัวทางกายด้วย

“ประการสำคัญสามารถจดจำประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้ไปใช้ในเหตุการณ์ คับขันอื่นๆได้ในอนาคต ขณะเดียวกันจะส่งผลให้ประชาชนที่ติดตามข่าวได้เรียนรู้วิธีการเอาชีวิตรอดเมื่อเผชิญเหตุวิกฤติทั้งแบบหมู่หรือคนเดียวได้ เป็นประโยชน์ของการเรียนรู้จากสื่อสาธารณะไปพร้อมๆกัน” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK