Lifestyle

‘บำรุงราษฎร์’ ตั้งเป้า 3 ปี ขึ้นแท่นผู้นำ ‘สุขภาพแบบองค์รวม’ ระดับโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การบริหารองค์กรขนาดใหญ่ในทุกวันนี้มีความท้าทายอย่างมาก ไม่ว่าจะด้วยกระแส ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น หรือ เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ที่เข้ามามีอิทธิพลในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันวงการแพทย์ได้มีการปรับประยุกต์ใช้และนำ อินเทลลิเจนซ์ เฮลธ์แคร์ (Intelligent Healthcare) หรือการดูแลสุขภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ รวมไปถึงการนำอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) เข้ามาใช้งานในทางการแพทย์ ซึ่งนับเป็นกุญแจสำคัญที่ท้าทายในการเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลสุขภาพให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

CEO pic1 Artirat Charukitpipat resize
ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์

ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า วิสัยทัศน์และเป้าหมายของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในปี 2565 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า คือ การขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวสู่โรงพยาบาลด้านการให้บริบาลสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลก (World-class Holistic Healthcare) อย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นเลิศทางการรักษาขั้นตติยภูมิที่สร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรม

การไปสู่เป้าหมายดังกล่าวนั้น มีหลายองค์ประกอบที่ผู้นำองค์กรจะต้องกล้าคิด กล้าริเริ่ม กล้าทดลองเพื่อจะเรียนรู้ และตัดสินใจลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ ซึ่งมีความท้าทายอย่างมาก และในฐานะโรงพยาบาลชั้นนำ ทำให้ต้องก้าวให้เร็วกว่าปกติ เปิดรับสิ่งใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมาบำรุงราษฎร์ได้ปรับโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ไอทีต่างๆ เพื่อให้สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ในอนาคต ซึ่งบุคลากรล้วนจะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อก้าวสู่โลกแห่งอนาคต

สิ่งสำคัญและท้าทายที่สุดคือ “การบริหารคน”  เพราะวัฒนธรรมองค์กรจะช่วยหล่อหลอมให้บุคลากรสร้างทัศนคติเชิงบวก พร้อมเปิดใจรับที่จะเรียนรู้และปรับตัวเองให้สอดคล้องกับทิศทางขององค์กร ดึงศักยภาพตัวเองออกมาใช้อย่างเต็มที่ รวมถึงต้องทำงานอย่างมีความสุขในช่วงเปลี่ยนถ่ายสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างไร้รอยต่อเพื่อก้าวเดินสู่จุดหมายไปพร้อมๆ กับองค์กร

Cardiac EP Lab

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี โรงพยาบาลได้มุ่งมั่นเพื่อยกระดับการบริบาลทางการแพทย์ให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น โดยคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient Centric) รวมถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient Safety) เป็นสำคัญ ด้วยวัฒนธรรมองค์กร และ ดีเอ็นเอของแพทย์ บุคลากร รวมถึงทุกสหสาขาวิชาชีพต่างก็รู้และเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ เอาใจใส่ผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ป่วยมาโดยตลอด ซึ่งประสบการณ์ที่ดีของผู้ป่วย (Patient Experience) นับเป็นอีกกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับปี 2562 นี้ บำรุงราษฎร์ได้กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ ด้วย 3 องค์ประกอบหลักๆ ประกอบด้วย

1. Clinical Excellence ความชำนาญการและประสบการณ์ของแพทย์ถือเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ต่างๆ โดยเฉพาะสหสาขาวิชาชีพในการรักษาขั้นตติยภูมิ ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของการบริบาล เพื่อให้สามารถดูแลรักษาโรคเฉพาะทางได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การป้องกัน การวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น การรักษา ตลอดจนถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์และความชำนาญการขั้นสูง พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย สามารถให้บริการแก่ผู้ป่วยและผู้ใช้บริการได้อย่างครอบคลุม

S10095

2. Operational & People Excellence มุ่งเน้นการดูแลบุคลากร มีเป้าหมายใน 3 ด้าน คือ ให้พนักงานมีความสุข มีอนาคต และเก่งขึ้น โดยจะตั้งคำถาม 3 ข้อ ได้แก่ 1. ทำอย่างไรให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข สร้าง “happy workplace” รวมถึงสวัสดิการที่เหมาะสมและกิจกรรมที่ตรงกับความต้องการของพนักงาน 2. ทำอย่างไรให้พนักงานทำงานและมีอนาคตการทำงานที่ดี โดยสร้างฟาสต์แทร็กให้กับกลุ่มทาเลนต์ เป็นต้น และ 3. ทำอย่างไรให้พนักงานเก่งขึ้น โดยจัดตั้งฝ่าย Bumrungrad Academy มีหน้าที่ในการออกแบบและพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์แต่ละสาขาวิชาชีพ

3. Service Excellence ยึดหลักการดูแลเอาใจใส่แบบวิถีแห่งบำรุงราษฎร์ รวมถึง มีการพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาการเข้าถึงของผู้มาใช้บริการให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น Bumrungrad Anywhere ซึ่งเป็นการให้บริการในรูปแบบโทรเวชกรรม หรือเทเลเมดิซีน โดยผู้รับบริการสามารถปรึกษาแพทย์ส่วนตัวได้ง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต แบบเรียลไทม์ โดยแพทย์สามารถวินิจฉัยอาการเบื้องต้น รวมทั้งแนะนำแนวทางการรักษา และข้อมูลสุขภาพต่างๆ

นอกจากนี้ ยังได้เปิดคลินิกพิเศษสำหรับผู้ป่วยนอก หรือ OPD Instant Clinic เพื่อการเข้าถึงบริการที่รวดเร็วขึ้น โดยใช้เวลาตั้งแต่ลงทะเบียน พบแพทย์ จ่ายเงิน และรับยา ภายในเวลา 1 ชม. ซึ่งคลินิกพิเศษนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเล็กน้อย ไม่รุนแรง ผู้ป่วยที่ต้องการรับวัคซีน หรือรับยาประจำเพิ่ม เป็นต้น

Dr.Teeradache pic3 resize
ดร. ธีรเดช เวียงธีรวัฒน์

 

ทั้ง 3 องค์ประกอบข้างต้น ล้วนเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย อีกทั้งบำรุงราษฎร์ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาใน 3 ส่วนหลักด้วยเช่นกัน ประกอบด้วย บุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทาง การทำงานร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ

ในด้านของนวัตกรรมทางการแพทย์ ดร. ธีรเดช เวียงธีรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ในช่วง 3 – 5 ปีที่ผ่านมา บำรุงราษฎร์ได้ศึกษาวิจัยและนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง มาปรับใช้ในองค์กรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับประยุกต์ใช้หลายส่วนด้วยกัน ทั้งการนำระบบซอฟต์แวร์ Hospital Information System (HIS) เข้ามาปรับใช้ในโรงพยาบาลเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อมูลมีความแม่นยำและถูกจัดเก็บอย่างปลอดภัย และสามารถเรียกใช้งานแบบเรียลไทม์

นอกจากนี้ ยังมีการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ทางการแพทย์ในหลากหลายรูปแบบ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม อาทิ บิ๊กดาต้าและเอไอ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาการรักษาที่แม่นยำและจำเพาะทางการแพทย์, ข้อมูล ดีเอ็นเอ และ จีโนมิกส์ รวมทั้งยังเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดระบบดาวินซีเข้ามาช่วยศัลยแพทย์ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยหลายระบบอวัยวะ เป็นต้น

ภาพการทำงานร่วมกับ robotic

การนำนวัตกรรมมาปรับใช้ในองค์กรและในวันนี้ถือว่าเกิดประสิทธิผลต่อการรักษาผู้ป่วยอย่างมาก คือ ระบบคอมพิวเตอร์ “ไอบีเอ็มวัตสัน” ที่ช่วยในการประมวลผลเพื่อให้แพทย์ตัดสินใจวางแผนการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โดยพัฒนาความก้าวหน้าของศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับรักษาโรคมะเร็งแบบเฉพาะบุคคล ช่วยทำให้แพทย์สามารถตัดสินใจกำหนดแผนและวิธีการรักษาที่เหมาะสมยิ่งขึ้นโดยพิจารณาเป็นรายบุคคล และอีกเทคโนโลยีคือ ซีบรา เอไอ ที่ใช้ร่วมกับซีทีสแกน เพิ่มความแม่นยำในการอ่านข้อมูลทางด้านรังสีรักษา

ทิศทางในอนาคตของอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ย่อมมีการแข่งขันที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่สถานพยาบาลด้วยกันเอง แต่จะมีสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ ที่พร้อมจะเข้ามาคิดค้นพัฒนาแพลตฟอร์มด้านสุขภาพใหม่ๆ เช่น การสร้างแอพตรวจโรคเบาหวาน แอพตรวจโรคมะเร็ง แอพหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หรือแอพผู้ช่วยเสมือนพยาบาล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา ไม่อาจบรรลุเป้าหมายทั้งหมดขององค์กรได้ บำรุงราษฎร์จึงเชื่อว่า การสื่อสารรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษา การมีปฏิสัมพันธ์ การให้กำลังใจผู้ป่วยและการบริบาลอย่างเอื้ออาทร ยังคงเป็นบทบาทสำคัญของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรของโรงพยาบาลฯ ทุกคน ในการสร้างประสบการณ์เชิงบวกให้แก่ผู้ป่วยและผู้มาเยือนที่บำรุงราษฎร์ เพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

Avatar photo