World News

‘แอร์บัส’ คาดการณ์ ‘เครื่องบิน’ ทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 4.8 หมื่นลำ ภายใน 20 ปี

fig 15 08 2019 04 34 07

รายงานฉบับใหม่จาก “แอร์บัส” บริษัทผลิตเครื่องบินชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า ในอนาคต ฝูงบินขนส่งสินค้า และผู้โดยสารทั่วโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากราว 23,000 ลำในปัจจุบัน เป็น 47,680 ลำในปี 2038 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า แบ่งเป็นเครื่องบินใหม่จำนวน 39,210 ลำ และอีก 8,470 ลำ จะเป็นครั้งบินเก่าที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ด้านปริมาณการจราจรทางอากาศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.3% ต่อปี ส่งผลให้ทั่วโลกมีความต้องการนักบินใหม่เพิ่มขึ้น 5.5 แสนคน และช่างเทคนิคใหม่จำนวน 6.4 แสนคน

เพื่อสะท้อนภาพเทคโนโลยีการบินซึ่งพัฒนามากขึ้นในปัจจุบัน แอร์บัสจึงได้ปรับวิธีการจัดกลุ่มเครื่องบินให้ง่ายมากขึ้น โดยพิจารณาจากความจุ พิสัย และภารกิจ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องบิน A321 ซึ่งเป็นเครื่องบินพิสัยใกล้ ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องบินขนาดเล็ก (S) ขณะที่เครื่องบินพิสัยไกลอย่าง A321LR หรือ XLR จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องบินขนาดกลาง (M) ส่วนตลาดหลักอย่างเครื่องบิน A330 ซึ่งปัจจุบันถูกจัดอยู่ในไซส์ M ก็มีความเป็นไปได้ ที่จะถูกนำไปใช้บริการเหมือนเครื่องบินไซส์ใหญ่ (L) เหมือนกับรุ่น A350 XWB ในอนาคต

เมื่อนำวิธีการดังกล่าว มาจัดกลุ่มเครื่องบินใหม่ ที่มีความต้องการระหว่างปี 2019-2038 อีก 39,210 ลำ ก็สามารถแบ่งกลุ่มได้ดังนี้ เครื่องบินไซส์ S จำนวน 29,720 ลำ ไซส์ M จำนวน 5,370 ลำ และไซส์ L จำนวน 4,120 ลำ โดยจำนวนนี้เป็นการจัดหาเครื่องบินใหม่เพื่อรองรับการเติบโตจำนวน 25,000 ลำ และอีก 14,210 ลำ เป็นการทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่า ด้วยเครื่องบินรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

fig 16 06 2019 08 28 52

ขณะเดียวกันตั้งข้อสังเกตว่า หลังอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวจากภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ ปริมาณการจราจรทางอากาศก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า นับตั้งแต่ปี 2000 โดยการบินมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่การเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มที่ชอบเดินทางมากที่สุดในโลก แต่ราคาหรือลักษณะภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวย

วันนี้ประชากร 25% ในเมืองใหญ่ทั่วโลก สร้างจีดีพีมากกว่า 25% ของโลก ดังนั้น เมืองที่เป็นมหานครด้านการบิน (Aviation Mega Cities: AMCs) จึงยังเป็นแรงผลักดันให้เครือข่ายการบินทั่วโลกขยายตัว นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ช่วยสนับสนุนให้เกิดความต้องการเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ  เพื่อทดแทนเครื่องรุ่นเก่าที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า

โดยการจัดหาเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ที่ช่วยประหยัดพลังงานเข้าไปในฝูงบิน เช่น รุ่น A220, รุ่น A320 Neo, รุ่น A330 Neo หรือรุ่น A350 จะช่วยให้อุตสาหกรรมการบินปล่อยคาร์บอนน้อยลง และส่งเสริมเป้าหมายเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้คนทั่วโลกเชื่อมต่อกันได้มากขึ้นด้วย

fig 16 05 2019 08 03 20

“การเติบโต 4% ต่อปี สะท้อนถึงการฟื้นตัวตามธรรมชาติของการบิน จากเหตุการณ์เศรษฐกิจชะงักงันในระยะสั้นหรือผลกระทบจากภูมิศาสตร์การเมือง โดยการเดินทางทางการบินยังเติบโตเป็นอย่างดี เพราะผู้คนและสินค้าต้องการการเชื่อมต่อ” แอร์บัสกล่าว “การค้าทางอากาศกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางจีดีพีทั่วโลกและช่วยสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ของคน 65 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าธุรกิจของแอร์บัสได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและการค้าโลกอย่างมากมาย”

Avatar photo